คนชายแดนใต้พบยูเอ็น : รัฐควรฟังเสียงประชาชน หยุดใช้กฎหมายปิดปาก
2024.01.16
กรุงเทพฯ

นักกิจกรรมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมาเข้าพบกับตัวแทนสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (United Nations - UN) ประจำประเทศไทย รวมถึงนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้กฎหมายปิดปากนักกิจกรรม และดำเนินคดีกับประชาชนที่เคลื่อนไหวโดยสันติ
“เรามาวันนี้ เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกกล่าวหาในเรื่องกิจกรรมที่เราได้ขยับประเด็นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อน ๆ อีก 9 คนที่ใส่ชุดมลายูก็ทำงานของตนเอง รณรงค์อัตลักษณ์ ตัวตนชาติพันธุ์ของตัวเอง” นายซาฮารี เจ๊ะหลง ผู้ก่อตั้งชมรมพ่อบ้านใจกล้า กล่าวหลังเข้าพบตัวแทนของยูเอ็น และนายทวี
“ในภาวะที่กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ ขบวนการบีอาร์เอ็นก็กำลังดำเนินการอยู่ ฝ่ายความมั่นคงกลับใช้กฎหมายในการปิดปากนักกิจกรรมที่พยายามสร้างพื้นที่ทางการเมืองสร้างบรรยากาศกระบวนการสันติภาพให้มันเป็นไปในทางที่ดี ขอฝากท่านรัฐมนตรีช่วยไปตรวจสอบ ช่วยทำให้พื้นที่ทางการเมือง และกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ไม่ไปถึงทางตัน” นายซาฮารี กล่าว
ภายหลังการเข้าพบกับตัวแทนสหประชาชาติ นางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ยูเอ็นได้รับฟังปัญหา และนำประเด็นต่าง ๆ ไปพิจารณาว่า ประเด็นไหนที่เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเคยลงนามไว้ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องทำงานใกล้ชิดกับยูเอ็นต่อไป
“รัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีนโยบายที่ดีเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ แต่ผู้ปฏิบัติกลับทำตรงข้ามกัน โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน และนักกิจกรรม ซึ่งความไม่เข้าใจกัน สามารถใช้วิธีการพูดคุย ไกล่เกลี่ย ในการแก้ปัญหาได้ แต่กลับใช้การดำเนินคดี ซึ่งเป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่” นางสาวอัญชนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ก่อนหน้านี้ วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา นายซาฮารีได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาคดี ฉ้อโกง และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จากการเป็นผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า” เพื่อรวบรวมเงินบริจาคช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และหนึ่งวันให้หลัง นายอุสตาส ฮาซัน และนักกิจกรรมรวม 9 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร และฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการร่วมจัดงานแต่งกายชุดมลายู (Melayu Raya 2022) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565
กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้กว่า 30 องค์กร ทำหนังสือเปิดผนึกถึงยูเอ็น ให้ช่วยตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนในหลายคดีว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่
ในวันอังคารนี้ กลุ่มนักกิจกรรมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำโดย นายซาฮารี, นายมูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ สมัชชาประชาสังคมชายแดนใต้ (CAP) นายอานัส พงค์ประเสริฐ The LOOKER ได้เข้าพบ กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ที่อาคารสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ รวมถึง รมว. กระทรวงยุติธรรม
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี หนึ่งในตัวแทนนักกิจกรรม ระบุว่า รัฐบาลควรพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง และแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
“การพูดคุยสันติภาพเป็นนโยบายต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลคุณเศรษฐาก็พูดถึงว่าจะทำอย่างต่อเนื่อง การที่กองทัพ หรือ กอ.รมน. ทำให้การส่งเสียง ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนทำไม่ได้ คือการทำลายสันติภาพที่เราอยากให้เกิดขึ้น เป็นการทำลายความตั้งใจของสังคม เราก็คาดหวังว่า ท่านรัฐมนตรีจะอำนวยความยุติธรรม และนำสิ่งนี้ไปพูดคุยกับ ครม. ว่าจะกำหนดทิศทางสันติภาพไปในทิศทางใด” นายอาเต็ฟ กล่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เอง
ด้าน นายทวี ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาล รับปากกับนักกิจกรรมว่า “กระทรวงยุติธรรมจะมอบหมายให้รองปลัดที่อยู่ในคณะพูดคุยฯ เอาเข้าไปตรวจสอบ อาจจะเป็นเรื่องการแปลภาษาที่ต่างกันก็เลยเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในส่วนของรัฐบาล หรือกระทรวงยุติธรรมก็อยากจะยืนยันว่า เราจะยึดหลักนิติธรรม จะต้องไม่ใช่กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม”
นอกจากเข้าพบตัวแทนยูเอ็น และ รมว. กระทรวงยุติธรรมแล้ว นักกิจกรรมกลุ่มนี้ยังได้เข้าพบกับ ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) รวมถึง ตัวแทน กมธ. ความมั่นคงฯ และ กมธ. กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร อีกด้วย
“ผมไม่เข้าใจว่า ประเด็นการแต่งกาย กลายเป็นประเด็นของ ม. 116 ประเด็นของการเรี่ยรายเพื่อช่วยเหลือคนที่ลำบาก กลายเป็นคดี ม. 116 อั้งยี่ ซ่องโจร อันนี้ผมคิดว่าก็เป็นหน้าที่ของประธานคณะกรรมาธิการที่จะดูแล ส่วนผมในฐานะกรรมการวิสามัญ ก็จะพยายามพูดคุยด้วย บรรยากาศแบบนี้มันเป็นการทำลายสิ่งที่เรากำลังพูดคุยให้เกิดสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายซูการ์โน มะทา สส. ยะลา พรรคประชาชาติ ระบุหลังการพูดคุยกับนักกิจกรรม
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า บรรยากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นบรรยากาศที่ผิดปกติและไม่ส่งเสริมสันติสุข
“เรื่องประชามติ หรือการพูดถึงเอกราชในพื้นที่ชายแดนใต้ ควรจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถพูดคุยได้ แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่พูดและแสดงความเห็นไม่ได้จริง ทั้งที่ควรมีพื้นที่พูดคุยและรับฟัง ไม่ควรสกัดกั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะปิดกั้นการพูดคุยไปเสียแล้ว อย่างน้อยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้พูดคุย ก็ยังดีกว่าการดำเนินการใต้ดินที่ใช้ความรุนแรง" อ.งามศุกร์ กล่าว
นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเผาโรงเรียน 20 แห่ง และปล้นปืน 413 กระบอก จากคลังแสงของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาส ในช่วงดึกของวันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน เวลาผ่านมาร่วม 20 ปีแล้ว แต่ไฟที่ลุกโชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่เคยดับมอดลง
ปี 2556 รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นทางออก แต่หลายครั้งกระบวนการก็หยุดชะงัก และไม่ต่อเนื่อง เมื่อต้นปี 2566 รัฐบาลมาเลเซียได้ตั้ง ตันศรี ดาโต๊ะ ซุลกิฟลี เป็นหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกฯ ประสานงานการพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทย และบีอาร์เอ็นในฐานะตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ
ต่อมา ธันวาคม 2566 ฝ่ายไทยตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย นับเป็นพลเรือนคนแรกที่รับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งนายฉัตรชัย ยืนยันว่าจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ร่วมกัน ซึ่งแนวทางคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ ลดการเผชิญหน้า การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ก่อนที่จะมีข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน