ไทยคว้าเก้าอี้สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

นักสิทธิชี้ไทยต้องกวาดบ้านให้สะอาดสมตำแหน่ง ย้ำข้อเรียกร้องยุติการส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมือง-ปรับปรุงมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.10.10
กรุงเทพฯ
ไทยคว้าเก้าอี้สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ขณะเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 9 กันยายน 2567
เอเอฟพี

นักสิทธิมนุษยชน แนะให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้เรียบร้อย หลังจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประกาศเลือกไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - HRC) วาระปี 2568-2570 

“นี่นับเป็นโอกาสที่ไทยจะทบทวนข้อเสนอจำนวนมากของยูเอ็นที่เคยส่งให้กับรัฐบาลไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อกวาดบ้านตัวเองให้เรียบร้อย เพราะที่ผ่านมา ไทยพลาดโอกาสที่จะนำข้อเสนอต่าง ๆ ของสหประชาชาติมาทำให้เป็นจริง” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ไทยเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศ ที่ได้รับเลือกในวาระนี้ อีก 17 ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนย่า หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์

ตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีฯ เป็นการลงคะแนนเสียงแบบลับ จากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 192 ประเทศ โดยสมาชิกต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งจากสมาชิกทั้งหมด และมีวาระ 3 ปี โดยปัจจุบัน สมาชิกคณะมนตรีฯ มีทั้งหมด 47 ประเทศ 

“เป็นเกียรติที่ประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกสหประชาชาติเห็นความสำคัญของประเทศไทย และศักยภาพของไทยที่จะมีบทบาทในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงบทบาทสำคัญในเรื่องของการแก้ไข หรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกรอบของสหประชาชาติได้เป็นอย่างดี” นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวหลังไทยได้รับเลือก

ความพยายามในการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ ของไทย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยในเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลได้เชิญผู้แทนรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต และผู้แทนระดับสูงจากกว่า 100 ประเทศ เข้าร่วมงานเลี้ยงเปิดตัวชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีฯ

สำหรับ ตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มีหน้าที่เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก สร้างบรรทัดฐานในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คำแนะนำเพื่อการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น 

ด้าน ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ถึงประเด็นดังกล่าวว่า การได้รับตำแหน่งเป็นทั้งโอกาสในการได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และความท้าทาย เพราะจะถูกตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติเช่นกัน

“รัฐบาลไทยยังคงถูกวิจารณ์เรื่องการจัดการคดีกับนักโทษทางการเมือง โดยเฉพาะนักกิจกรรมเยาวชน ถือเป็นความย้อนแย้งที่ชัดเจน คือภายในประเทศเองยังคงมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการแก้ไข การเข้าร่วมในครั้งนี้จะเป็นบททดสอบให้เห็นเลยว่า รัฐบาลจะสามารถปฏิรูปและยกระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลได้หรือไม่” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

หลายปีที่ผ่านมา ไทยได้รับหนังสือจากสหประชาชาติแสดงความกังวลหลายครั้งในหลากหลายประเด็น เช่น ในปี 2563 เคยแสดงความกังวลถึงการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยแนะนำให้ไทยประกันสิทธิในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสันติ 

และล่าสุดในกลางปี 2567 สหประชาชาติแสดงความกังวลต่อ กรณีที่ไทยจะส่งตัว นายอี ควิน เบอดั๊บ นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามที่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลับประเทศซึ่งอาจทำให้เขาต้องถูกจำคุก 10 ปี ทันทีที่กลับถึงเวียดนาม

“ประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ ประเด็นการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่หากส่งไปแล้วจะทำให้เขาต้องเผชิญกับอันตราย กรณี นายอี ควิน เบอดั๊บ ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจส่งกลับจะนับเป็นสัญญาณที่ติดลบด้านสิทธิมนุษยชน และนับเป็นการทรยศต่อคะแนนเสียงของประเทศที่ลงคะแนนเลือกไทยเป็นคณะมนตรีฯ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว

ขณะเดียวกัน สหประชาชาติ เคยแสดงความกังวลต่อการตัดสินจำคุกรุนแรง ในคดี ม. 112 เช่น กรณีนางอัญชัน ปรีเลิศ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 43 ปี 6 เดือน ในปี 2564 และนายมงคล ถิระโคตร ที่ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี ในปี 2567 รวมทั้งกังวลต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคก้าวไกล จากการหาเสียงด้วยนโยบายแก้ไข ม. 112

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,956 คน ในจำนวน 1,302 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 273 คน จาก 306 คดี และมีผู้ต้องขังคดี ม. 112 อย่างน้อย 28 คน ในปัจจุบัน

“อีกประเด็นที่สำคัญคือ การติดตามจำเลยคดีตากใบ ที่มีข้อเท็จจริงว่า จำเลยสองคนเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ซึ่งถ้าไม่สามารถนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการศาลไทยได้ก่อนวันที่ 25 ตุลาคมนี้ กระบวนการในประเทศไทยก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ต่างชาติอาจจะเข้ามาสร้างความชอบธรรมในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ควรให้เป็นเช่นนั้น เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์สมาชิกคณะมนตรีฯ” ผอ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ

ส่วนคดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย จะหมดอายุความในอีก 15 วัน ซึ่งล่าสุด ตำรวจเปิดเผยว่า ยังไม่รู้ที่อยู่ของจำเลย และผู้ต้องหา 14 คน ซึ่งจำนวนหนึ่งในนั้นเป็นข้าราชการระดับสูง รวมถึง สส. พรรครัฐบาล 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง