สหรัฐย้ำแผนสันติภาพเมียนมายังสำคัญ แม้สมาชิกอาเซียนเสียงแตก

แถลงการณ์ทูตอาเซียนระบุ หลายประเทศมองไทยเข้าพบรัฐบาลทหารพม่า สร้างท่าทีในแง่บวก
เตรีย ดิอานติ
2023.07.14
จาการ์ตา
สหรัฐย้ำแผนสันติภาพเมียนมายังสำคัญ แม้สมาชิกอาเซียนเสียงแตก รัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียน (จากซ้าย) ดอน ปรมัตถ์วินัย, บุย แท็ง เซิน จากเวียดนาม, แอนโทนี บลิงเกน จากสหรัฐฯ, เรตโน มาร์ซูดี จากอินโดนีเซีย และปราก โสคนน์ จากกัมพูชา ขณะร่วมถ่ายภาพหมู่กับสหรัฐอเมริกา หลังการประชุมรัฐมนตรีประเทศสมาชิกอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย วันที่ 14 กรกฎาคม 2566
อลังการา/ผ่านรอยเตอร์

ทางการสหรัฐฯ ย้ำในที่ประชุมอาเซียนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้กดดันเมียนมาในการดำเนินการตามแผนสันติภาพของอาเซียนที่ถูกเมินเฉยมาโดยตลอด แม้ว่าสมาชิกในภูมิภาคบางประเทศอาจมีความเห็นต่างกันในการจัดการวิกฤตในเมียนมาก็ตาม

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศทั้งหลายต้องกดดันกองทัพเมียนมาให้ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการของสมาคมอาเซียน ระหว่างการพบปะกับประเทศพันธมิตรจากกลุ่มดังกล่าว ในกรุงจาการ์ตา

“เราต้องกดดันรัฐบาลทหารให้หยุดความรุนแรงในเมียนมา ให้ดำเนินการตามฉันทามติ 5 เพื่อสนับสนุนการกลับคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” นายแอนโทนี บลิงเคนกล่าวในสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมกับรัฐมนตรีของประเทศอาเซียนในวันศุกร์นี้

สมาคมอาเซียน ซึ่งมีเมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิก ได้พยายามไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤตในเมียนมา หลังจากกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และจับกุมนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนเข้าคุก ส่งผลให้ประชาชนเกือบ 3,800 คนเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงหลังรัฐประหาร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลทหาร

ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งล่าช้าไปหนึ่งวันหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา โดยรายงานระบุว่า สาเหตุของความล่าช้ามาจากกลุ่มทูตระดับสูงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าแถลงการณ์จะกล่าวถึงเมียนมาอย่างไร

นอกจากนี้คำชี้แจงดังกล่าว ยังสะท้อนความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว ไทยได้จัดการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารของเมียนมา โดยมีผู้แทนจากสมาชิกอาเซียนคือ บรูไน กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงอินเดีย และจีน ก็เข้าร่วมด้วย 

ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาและไทยได้รับการกล่าวขานว่ามีความใกล้ชิดกัน และนายกรัฐมนตรีไทยที่เพิ่งออกจากตำแหน่งก็เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก

ขณะที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนไม่พอใจการประชุมครั้งนั้น จึงไม่เข้าร่วม พร้อมกับสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ความร่วมใจของอาเซียน

แถลงการณ์ร่วมที่ออกเมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า “สมาชิกอาเซียนบางประเทศ” มองว่าการประชุมลับของไทยกับนางอองซาน ซูจี เป็น “การพัฒนาในเชิงบวก”

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์นี้ระบุว่าความพยายามในการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมาต้องสอดคล้องกับแผนฉันทามติ 5 ประการ และการทำงานของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานของอาเซียน

“เรายืนยันในความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน และเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนควรยึดถือฉันทามติ 5 ประการเป็นหลัก และประสานงานกับประธานอาเซียน” ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนระบุ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของไทย ชี้แจงว่าการประชุมที่ไทยจัดขึ้นนั้นสอดคล้องกับเอกสารอาเซียนฉบับก่อนหน้านี้ ซึ่งเรียกร้องให้มีการสำรวจแนวทางอื่น ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

โดยระหว่างการประชุมในวันพุธ นายดอนได้ประกาศว่า เขาได้พบกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนของเมียนมาอย่างไม่เปิดเผย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้แจงว่า การเข้าพบปะครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลทหารพม่าและนางอองซาน ซูจี แล้ว นับเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความตกตะลึงให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ 

นอกจากนี้ยังมีการรายงานอีกว่า มีบางประเทศที่ไม่เห็นพ้องกับแผนฉันทามติ 5 ประการ แม้ทุกประเทศได้แสดงความเป็นเอกภาพอย่างพร้อมเพรียงกันก็ตาม

นาย ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียคนก่อน แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ โดยเขาเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทำลายแผนฉันทามติ 5 ประการ และจัดทำแผนใหม่และระเบียบการบังคับใช้ตามกรอบระยะเวลา

ที่ผ่านมาอาเซียนใช้วิธีการดำเนินการโดยฉันทามติ ซึ่งหมายความว่าการดำเนินการใด ๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากทุกประเทศสมาชิก ในขณะที่มีสมาชิกบางประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการด้วยมาตรการที่รุนแรงขึ้นกับเมียนมา

ดังนั้น นอกเหนือจากการสั่งห้ามรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนทั้งหมด เพราะไม่ยอมรับฉันทามติ 5 ประการ ก็แทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมของนักการทูตชั้นนำของอาเซียนสอดคล้องกับความคาดหวังของเขาเป็นส่วนใหญ่

เขาอยากเห็น “อาเซียนเชิญรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เข้าร่วมเพื่อหักหน้ารัฐบาลทหารเมียนมา แต่คงไม่ได้รับฉันทามติ” มาร์สตัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยอ้างถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา

นอกจากนี้เขายังต้องการเห็น “อาเซียนแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลทหาร” พร้อมระบุชัดถึงท่าทีของไทยว่า “ยังมีโอกาสที่เราจะเห็นการทูตที่หลอกหลวงไร้มารยาทของไทย” มาร์สตัน ระบุ

ด้าน นักวิเคราะห์การเมืองอีกรายหนึ่ง มูฮัมหมัด วัฟฟา คาริสมา ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศในกรุงจาการ์ตา คาดหวังว่า แถลงการณ์ร่วมน่าจะออกมาดีกว่านี้

“ฉันได้แต่หวังว่าอาเซียนจะไม่ยอมรับรัฐบาลทหารกลับมาเข้าร่วม โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย” มูฮัมหมัด กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง