ไบเดนหนุนอินโด-แปซิฟิกที่ ‘เสรีและเปิดกว้าง’ ในประชุมสุดยอดกับผู้นำอาเซียน
2022.05.13
วอชิงตัน
นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศต่อหน้าผู้นำประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันศุกร์ว่า “ความสัมพันธ์ของเรากับท่าน คืออนาคต” ขณะกล่าวปิดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านั้น และต้านอิทธิพลของจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้อย่างมาก
คำกล่าวของไบเดนต่อหน้าที่ประชุม มีขึ้นหลังจากที่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางทะเลแก่สมาชิกอาเซียน เพื่อจัดการกับ “สิ่งที่คุกคามกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ” และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เจรจากับอินโดนีเซีย พี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้ และเวียดนาม
"ประเทศในอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของโลกเราในช่วง 50 ปีข้างหน้านี้ และความสัมพันธ์ของเรากับท่านจะเป็นสิ่งกำหนดอนาคตในปีและทศวรรษที่กำลังมาถึงนี้” ไบเดน กล่าวในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่มีขึ้นในห้วงเวลาสองวัน
"ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เป็นหัวใจสำคัญยิ่งต่อกลยุทธ์ของรัฐบาลเรา ในการสร้างอนาคตที่เราทั้งหมดอยากจะเห็น อินโด-แปซิฟิกนี้ จึงเป็นพื้นที่ที่เสรีและเปิดกว้าง มีเสถียรภาพ รุ่งเรือง เข้มแข็งและมั่นคง นี่เป็นสิ่งที่เราทั้งหมดต้องการให้เกิดขึ้น” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า “ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” เป็นแนวคิดที่ว่าอาเซียนทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อน และออกแบบโครงสร้างสถาบันและสานความสัมพันธ์กับนอกภาคีที่มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
"เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะสร้างอนาคตที่สนับสนุนและเคารพกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่เอื้อต่อการเติบโต ความเจริญรุ่งเรือง และเสถียรภาพในอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งการเคารพหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน” ไบเดน กล่าวเสริม
เขาเสนอชื่อ นายโยฮันเนส อับราฮัม ที่ปรึกษาคนสนิท ให้เป็นทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างมากว่าห้าปีแล้ว
"ทูตคนใหม่นี้จะเป็นผู้แทนที่น่าไว้ใจ ผู้ทำหน้าที่กระชับความเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญยิ่งระหว่างเราทั้งหมดต่อไป” ไบเดนกล่าวถึงโยฮันเนส อับราฮัม ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเคยเป็นผู้ช่วยอาวุโสในรัฐบาลชุดบารัค โอบามา
อาเซียนประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ภูมิภาคนี้มีประชากรรวมกันกว่า 662 ล้านคน และมีจีดีพีรวมกัน 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดพิเศษอาเซียน-สหรัฐฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 (เอพี)
ในวันศุกร์นี้ นางคามาลา แฮร์ริส เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันและเพื่อพูดคุยกับผู้นำอาเซียน ในเวลาเดียวกัน และได้เน้นย้ำถึงความกังวลเรื่องความมั่นคงที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ สมาชิกอาเซียนหลายประเทศกำลังมีข้อพิพาทดินแดนกับจีน
“รัฐบาลเราตระหนักว่าภูมิภาคของท่านมีความสำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์ และจะยิ่งสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เรายังตระหนักถึงความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการกำหนดและวางแผนอนาคตของภูมิภาคนี้” เธอบอกแก่ที่ประชุมที่กระทรวงต่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน
“ในฐานะประเทศหนึ่งในอินโด-แปซิฟิก สหรัฐอเมริกาจะมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องต่อไปกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีกหลายสิบปี” เธอกล่าว และเสริมด้วยว่า ด้วยวิสัยทัศน์เดียวกันสำหรับภูมิภาคนี้ “เราจะร่วมกันป้องกันสิ่งคุกคามต่อกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ”
“เราจะยืนเคียงข้างพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา เพื่อรักษาระเบียบทางทะเลตามกฎเกณฑ์ รวมทั้งเสรีภาพการเดินเรือและกฎหมายระหว่างประเทศ” เธอกล่าว โดยไม่ได้เอ่ยถึงจีน
เพื่อย้ำคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ นางคามาลา แฮร์ริส กล่าวว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางทะเลต่อภูมิภาคนี้จำนวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะนำโดยหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ และจะส่งเรือคัตเตอร์หนึ่งลำให้ใช้เป็นฐานในการฝึก และยังจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเพื่อช่วยพัฒนาความสามารถในภูมิภาคนี้ด้วย
ความช่วยเหลือที่เสนอให้นี้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระหว่างอาหารเย็นเปิดการประชุมสุดยอดครั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดี ที่จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนเรื่องการป้องกันโควิด-19 ความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้จะใช้เพื่อต้านอิทธิพลอันกว้างขวางของจีนในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะส่งเรือลำหนึ่งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคนี้ เพื่อลาดตระเวนน่านน้ำที่สมาชิกอาเซียนบอกว่า เรือของจีนเข้าไปทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย ไบเดนกล่าว
ในการประชุมทวิภาคีกับอินโดนีเซียและเวียดนาม สองประเทศอาเซียนที่มีประชากรมากที่สุด เมื่อวันศุกร์ นายแอนโทนี บลิงเคน ย้ำถึงการกระชับความเป็นหุ้นส่วนกันในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ
การประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่สองที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หลังจากครั้งแรกที่จัดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2559 “เน้นถึงความสำคัญยิ่งที่เรา สหรัฐอเมริกาให้แก่อาเซียน ความสัมพันธ์ของเรา ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” บลิงเคนกล่าวกับนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย
“เรากำลังทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์เดียวกันนี้ที่ต้องการอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เรากำลังพยายามกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้” เขากล่าวที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เดินนำผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน ออกมาถ่ายภาพหมู่ ที่สนามหญ้าด้านทิศใต้ของทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 (เอพี)
'วิกฤตร้ายด้านมนุษยธรรม’ ในยูเครน
นางเร็ตโน มาร์ซูดี ยินดีที่จะมี “การสื่อสารและความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างสองประเทศ” และกล่าวว่า “เรายังควรที่จะใช้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้ เพื่อสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในอินโด-แปซิฟิกด้วย”
นางเร็ตโนทิ้งท้ายการประชุมด้วยคำกล่าวทั่วไปอย่างสงวนท่าที เมื่อหารือกันถึงสงครามในยูเครนกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีลาว เมียนมา และเวียดนาม ประเทศที่เป็นมิตรกับรัสเซียอยู่ด้วย ว่า “เราหวังที่จะเห็นสงครามในยูเครนยุติลงโดยเร็วที่สุด”
คำพูดของเธอคล้ายกับที่นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี ว่าสงครามยูเครนกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น
“สงครามยูเครนนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงด้านมนุษยธรรม และกระทบเศรษฐกิจโลก” เขากล่าว ตามรายงานที่เปิดเผยโดยคณะรัฐมนตรีของเขา
บลิงเคนบอกนายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ว่าสหรัฐฯ และเวียดนาม “เป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นที่สุด โดยมีวิสัยทัศน์เดียวกันที่ต้องการเห็นความมั่นคงในภูมิภาคนี้ และต้องการมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
วิกฤตหลังรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือกันนอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันพฤหัสบดี เป็นหัวข้อหลักของการประชุมระหว่างนายแอนโทนี บลิงเคน กับนายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษอาเซียนว่าด้วยเรื่องเมียนมา
“เรากำลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในฐานะหุ้นส่วน เพื่อพยายามผลักดันวิสัยทัศน์เดียวกันสำหรับภูมิภาคนี้ รวมทั้งความมั่นคงในภูมิภาคนี้ด้วย” บลิงเคนกล่าว กัมพูชาเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปีนี้
“แน่นอนด้วยว่า เรายินดีที่กัมพูชามีบทบาทเป็นผู้นำอาเซียนในขณะนี้ เพื่อหาทางออกแก่หลายประเด็นปัญหา รวมทั้งความหวังที่จะนำประชาธิปไตยกลับมาสู่เมียนมา” เขาเสริม
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ขวา) พบกับนาย ปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ที่กระทรวงการต่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 และนายปรัก ยังเป็นทูตพิเศษของอาเซียนประจำเมียนมาอีกด้วย
ไม่ได้เข้าร่วม แต่เป็นหัวข้อสำคัญในการประชุม
เมียนมา เป็นหนึ่งในสองสมาชิกอาเซียนที่ผู้นำประเทศไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้
ฟิลิปปินส์ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากกำลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสัปดาห์นี้ ขณะที่ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม ท่ามกลางการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การปราบปรามดังกล่าวได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วอย่างน้อย 1,835 คน
แม้จะไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย แต่ประเทศที่สหรัฐฯ ยังเรียกอย่างเป็นทางการว่าพม่า ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญ ในวาระการประชุมกับอาเซียน เมื่อวันพฤหัสบดี
นายไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ทวีตหลายครั้งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาที่ไม่ยอมทำตามคำสัญญาในการยุติความรุนแรงในเมียนมา ขณะที่นางเว็นดี้ เชอแมน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ประชุมร่วมกับนายซิน มา ออง รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รัฐบาลเงาของเมียนมา
“ท่านรัฐมนตรีช่วยได้ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนและหุ้นส่วนอื่น ๆ ต่อไป เพื่อเร่งหาทางออกในวิกฤตในเมียนมาอย่างยุติธรรมและสันติ” ตามคำแถลงของนายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
“และยังประณามการที่รัฐบาลทหารใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่วิกฤตด้านมนุษยธรรม และได้เรียกร้องให้เปิดทางแก่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงทุกคนที่ต้องการได้ในพม่า”
เรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเมียนมาได้ติดต่อขอความคิดเห็นจาก พล.ต. ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ในกรุงเนปิดอว์ แต่ไม่ได้รับคำตอบ
แต่หัวหน้าสถาบันคลังสมองแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิกล้วนเป็นอดีตนายทหารที่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่า เรียกการประชุมระหว่างสหรัฐฯ กับรัฐบาลเงาเมียนมาว่า “ผิดจรรยาบรรณ”
“พูดตรง ๆ คือ นี่เป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของมหาอำนาจที่แสดงถึงการลบหลู่ประเทศอื่น” เต็ง ตุน อู ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาธานิงกา กล่าว
สภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นชื่อทางการของรัฐบาลทหาร “ที่ครองอำนาจรัฐทั้งสามฝ่ายในเมียนมาอยู่ในขณะนี้” เขากล่าว
"เมียนมาจะเดินหน้าต่อไป เพื่อทำตามคำมั่นให้บรรลุผลในที่สุด ไม่ว่าโลกตะวันตกจะว่าอย่างไร ผลักดันอย่างไร หรือทำอย่างไร เมียนมาก็จะทำตามแผนงานที่ตนเองได้วางไว้” เต็ง ตุน อู กล่าว