ประยุทธ์ยันร่วมประชุมอาเซียน-สหรัฐ แต่ไม่เลือกข้าง สงครามยูเครน-รัสเซีย
2022.05.06
กรุงเทพฯ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันในวันศุกร์นี้ว่าจะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ (ASEAN – US Special Summit) ครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในสัปดาห์หน้า โดยระบุว่าการไปร่วมประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่การเลือกข้างทางการเมืองระดับโลก ตามที่มีคนได้วิพากษ์วิจารณ์
พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การเดินทางไปร่วมประชุมซัมมิต ในระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 นี้ ไม่ใช่การเลือกข้างทางการเมืองในสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ตามที่มีการวิเคราะห์กัน
“ยืนยันอีกครั้ง มันไม่ได้มีประเด็นอะไรอย่างที่พาดหัวข่าวกันไปอย่างโน้นอย่างนี้... มันเป็นการประชุมปกติเหมือนการประชุม อาเซียนญี่ปุ่น อาเซียนจีน อาเซียนสหรัฐมันก็จำเป็น ไปประชุมก็ต้องประชุมแค่นั้นเอง เผอิญมันเกิดเหตุการณ์สถานการณ์เรื่องสงครามขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของสถานการณ์ในภูมิภาค” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
“ไม่ได้ไปเลือกอะไรกับใคร เราไปในบทบาทของอาเซียน เรื่องเศรษฐกิจเรื่องการค้า เรื่องการลงทุน สถานการณ์ในภูมิภาค อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็เหมือนกับการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมานั่นแหละ ผมก็พยายามทำอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันศุกร์นี้ กระทรวงการต่างประเทศยังไม่เปิดเผยแผนการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ และคณะ
นักวิเคราะห์คาดว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะพยายามกระชับความสัมพันธ์กับสมาชิกอาเซียน เพื่อต่อต้านอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ที่มีการแข่งขันกัน และเพื่อส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
สมาชิกอาเซียนหวังว่าสหรัฐฯ จะมาใน "บทบาทเชิงสร้างสรรค์" ในการสนับสนุนความพยายามเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ควบคู่ไปกับความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี
“เรากำลังพยายามใช้การประชุมสุดยอดทุกครั้ง รวมทั้งการประชุมครั้งนี้ เพื่อยืนยันจุดยืนของเราว่า เราเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย และสนับสนุนการหยุดยิงและการเจรจาอย่างสันติ” นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ กล่าว
“นอกจากนี้ เราเน้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเรากำลังดำเนินการกับสภากาชาดยูเครนและโปแลนด์”
กดดันประยุทธ์
ในท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สหรัฐและอียูสนับสนุนอาวุธให้กับยูเครน และความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ได้แสดงความกังวลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าหากเลือกข้างประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงต่อไทย
“นายกฯ แสดงความกังวลด้วยว่าการไปประชุมพิเศษนัดนี้ประเทศไทยอาจถูกกดดันให้เลือกข้างในวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน นับว่าเป็นความคิดที่หลักแหลมและวิสัยทัศน์กว้างไกลของ นายกฯ ที่มองเห็นประเด็นปัญหาล่วงหน้า... อยากเตือนสติ นายกฯ ว่า อย่าออกตัวเร็วเกินไป เพราะสงครามพันทางระหว่างอเมริกากับรัสเซียครั้งนี้ มันซับซ้อนเกินความสามารถของอาเซียนและประเทศไทย จะช่วยแก้ไขได้” นายสุทิน วรรณบวร เขียนในคอลัมน์ “ทวงกระแสโลก” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้าเมื่อวันพุธนี้
ด้าน นักข่าวอาวุโส เปลว สีเงิน จั่วหัวบทความว่า มีสัญญาณแบบไทยให้เลือกข้าง โดนยกตัวการปรับปรุงสถานกงสุลของสหรัฐในเชียงใหม่ที่อาจจะใช้เป็นฐานการปฏิบัติการด้านความมั่นคง เพราะอยู่ใกล้ชายแดนของจีน ซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวของไทยได้ตั้งคำถามต่อสถานทูตสหรัฐ
“คำถามต่าง ๆ สอดคล้องกับความกังวลของ “จีน” ที่เห็นการดำเนินยุทธศาสตร์ของ “สหรัฐ” มุ่งหวังใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นในภูมิภาคนี้ เพราะก็จะเหลือแค่ประเทศไทยที่ยังไม่ได้เลือกข้างฝ่ายใด หลังจากที่ลาว-กัมพูชา-เมียนมา ที่อยู่รอบบ้านแสดงท่าทีสนับสนุนจีน และให้ใช้พื้นที่ในการตั้งฐานบิน และ ฐานทัพเรือไปแล้ว” เปลว สีเงิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเนียง ลิน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจุดยืนที่แท้จริงของไทยเป็นอย่างไร
“ไทยเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่สหรัฐพยายามให้เลือกอยู่ข้างสหรัฐ ไม่เฉพาะเรื่องวิกฤตยูเครนนะครับ แต่มันยังเป็นเรื่องหลักอย่างการคานอำนาจกับจีนนี่แหละ แต่การพยายามของเขามันเป็นไปอย่างนุ่มนวล ไม่เชิงบังคับ” เนียง ลิน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ถ้าเลือกข้างแล้วจะได้อะไร มีดีลอะไรให้รัฐไทยบ้าง หรือถ้าไม่เลือก เราจะเสียอะไรไปบ้าง และรัฐบาลจะหาทางอย่างไรเพื่อทำให้ไทยเสียประโยชน์จากเวทีนานาชาติน้อยที่สุด รัฐบาลไทยควรมีท่าทีชัดเจนกว่านี้ ผมย้ำหลายครั้งว่าเราอาจตกขบวนนานาชาติ หากไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ชัดเจน”
ครบรอบความสัมพันธ์ 35 ปี สหรัฐฯ กับอาเซียน
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นการฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2520 โดยจะเป็นการประชุมสุดยอดกับผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งที่สองเท่านั้น ซึ่งนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ
ครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา ให้การต้อนรับผู้นำอาเซียนที่ซันนีแลนด์ ในเมืองแรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดย พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วม เพราะการก่อรัฐประหารของเขาเมื่อปีที่แล้ว
การประชุมครั้งนี้ ถูกเชื่อมโยงกับสถานการณ์สู้รบยูเครน-รัสเซีย หลังจากเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยมีการนำทหารและอาวุธสงครามเข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน ซึ่งชนวนของการสู้รบครั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่า เกิดจากการที่ยูเครนพยายามใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ซึ่งรัสเซียเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และเมื่อยูเครนไม่ยอมเปลี่ยนท่าที รัสเซียจึงเริ่มโจมตี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
หลังจากที่รัสเซียได้นำกำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน นานาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหยุดซื้อเชื้อเพลิงจากรัสเซีย, ยกเลิกเที่ยวบินเข้าไปในรัสเซีย รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซีย และมีการแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน รัสเซียยังคงใช้กำลังทหารกับยูเครน แม้จะมีความพยายามให้ยุติการสู้รบอย่างต่อเนื่องก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี จะมีการหารือในประเด็นหลัก 3 เรื่อง ที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค 2. การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และ 3. การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาค อีกทั้งจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ต่อจากไทยด้วย
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน