สหรัฐฯ จะช่วยไทยกู้เรือหลวงสุโขทัยระหว่างฝึกคอบร้าโกลด์ 2024

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.02.02
กรุงเทพฯ
สหรัฐฯ จะช่วยไทยกู้เรือหลวงสุโขทัยระหว่างฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 ทหารนาวิกโยธินเกาหลีใต้ ขณะฝึกซ้อมยกพลขึ้นบก ที่หาดยาว จังหวัดชลบุรี ร่วมกับกองกำลังทหารไทยและสหรัฐฯ ในการฝึกภาคสนามคอบร้าโกลด์ ประจำปี 2023 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 กองทัพของทั้งสองประเทศจะร่วมกันดำเนินภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด ซึ่งอับปางลงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และจนถึงปัจจุบัน ร่างของทหารเรือ 5 นาย ยังสาบสูญหาไม่พบ โดยจะร่วมปฏิบัติการค้นหาร่างทหารที่เสียชีวิต 5 นาย และกู้ยุทโธปกรณ์ประจำเรือบางอย่าง 

ภารกิจร่วมครั้งนี้จะดำเนินการภายใต้การฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 และเกิดขึ้นได้เพราะมิตรภาพอันยาวนานระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการฝึกซ้อมร่วม การปฏิบัติการ และความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาแถลงการณ์จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุ 

เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจกู้เรือแบบจำกัดร่วมกันอย่างปลอดภัยและละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเชิดชูเกียรติเหล่าทหารเรือที่สูญหายและนำมาซึ่งข้อสรุปให้แก่ครอบครัวและเพื่อน ๆ ของพวกเขาตอนหนึ่งของแถลงการณ์ 

ด้าน พล.ร.อ. ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เปิดเผยว่า ปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด จะยังไม่ใช่การกู้ลำเรือขึ้นมาจากน้ำ

การกู้เรือครั้งนี้ คือ 1. การค้นหาผู้สูญหายจำนวน 5 คน 2. เราจะลงไปสำรวจหลักฐานใต้น้ำเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ 3. เป็นเรื่องของการทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ หมดความสามารถ และเรื่องที่ 4. คือเรื่องที่กองทัพเรือจะนำอุปกรณ์ และนำยุทโธปกรณ์บางอย่างขึ้นมาจากน้ำ ส่วนตัวเรือยังอยู่ที่ใต้ทะเลอยู่พล.ร.อ. ชาติชาย กล่าว

ปฏิบัติการกู้เรือสุโขทัยแบบจำกัด จะดำเนินการระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2567 โดยกองทัพเรือจะใช้เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 18 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 40 นาย ร่วมปฏิบัติการ ด้านกองทัพเรือสหรัฐฯ จะใช้เรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 20 นาย สนับสนุนปฏิบัติการในครั้งนี้

พล.ร.อ. ชาติชาย ระบุว่า เหตุผลที่ไม่ให้สหรัฐฯ ร่วมกู้ซากเรือทั้งลำเนื่องจากกองทัพเรือได้เสนองบประมาณในการกู้ซากเรือต่อรัฐบาลไปแล้ว และยืนยันว่า ไทยไม่ได้เลือกบริษัทจากประเทศจีนในการปฏิบัติการเก็บกู้ซากเรือตามที่เคยมีข่าว 

เรือหลวงสุโขทัย FSG-442 เป็นเรือคอร์เวตคู่กับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ที่กองทัพเรือจัดหามาจากสหรัฐอเมริกา ขึ้นประจำการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2530 ในกองเรือปราบเรือดำน้ำ

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 เรือหลวงสุโขทัยมีภารกิจเดินทางไปยังจังหวัดชุมพร แต่เนื่องจากมีคลื่นลมแรงจึงทำให้เรือเสียการทรงตัว และมีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือ ซึ่งนำไปสู่การอับปาง พร้อมกำลังพล 105 นาย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 นาย และปัจจุบันยังสูญหาย 5 นาย

 240202-th-cobra-gold-2.jpeg

ยานสะเทินน้ำสะเทินบกสหรัฐฯ ขณะร่วมฝึกยกพลขึ้นบกในการซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์ที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 (ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์) 

การฝึกคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 43 นี้ เป็นการฝึกร่วมทางทหารที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เกิดขึ้นหลังจากการที่ นายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน เพื่อหารือกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ในประเด็นทะเลจีนใต้ และการเมืองไต้หวัน 

พล.อ. ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร ในฐานะเจ้าภาพการฝึกคอบร้าโกลด์ฝ่ายไทย ระบุว่า “ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกก็จะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถ การเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ ให้กับกำลังพลที่เข้ารับการฝึกของกองทัพไทยและมิตรประเทศ ทั้งเรื่องวิชาการ และความรู้ เทคโนโลยีทางทหาร

คอบร้าโกลด์ ในปีนี้ จะเป็นการกลับมาร่วมฝึกแบบเต็มรูปแบบ รวมยอดผู้เข้าร่วมฝึกในหลายภาคส่วนเกือบ 10,000 นาย จาก 30 ประเทศ ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม 2567

โดยมี 7 ชาติหลักประกอบด้วย ไทย, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เข้าร่วมการฝึกบนภาคพื้นดินและภาคพื้นทะเล รวมถึงฝึกยุทธวิธีทางอากากาศ และปฏิบัติการทางด้านไซเบอร์ รวมถึงอวกาศ 

อย่างไรก็ตาม จีนจะไม่ร่วมฝึกซ้อมรบ แต่จะร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน เช่นเดียวกับ อินเดีย โดยมี ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, มองโกเลีย, เนปาล, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, ฟิจิ, สหราชอาณาจักร และบรูไน สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรม 

การฝึกครั้งนี้มีประเทศร่วมสังเกตการณ์คือ กัมพูชา, ลาว, บราซิล, ปากีสถาน, เวียดนาม, เยอรมนี, สวีเดน, กรีซ, คูเวต และศรีลังกา รวมยอดผู้เข้าร่วมฝึก 9,590 นาย จาก 30 ประเทศ

หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฝึกคอบร้าโกลด์ถูกลดขนาดลง แต่ปีนี้จะกลับมาฝึกแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง และจะเป็นอีกครั้งที่เมียนมา ไม่ถูกเชิญร่วมสังเกตการณ์การฝึก เนื่องจากกองทัพได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564

เมื่อปี 2566 นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการฝึกคอบร้าโกลด์มีความสำคัญ เนื่องจากมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของบรรดาเกษตรกร นักเรียน และผู้ประกอบการร้านค้า เนื่องจากประมาณ 60% ของเศรษฐกิจโลกอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสองในสามของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

"การฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 43 นี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงพันธไมตรีที่แข็งแกร่งของเรา การฝึกเหล่านี้และความเป็นหุ้นส่วนของเรามีความสำคัญยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านใหม่ ๆ ในระดับภูมิภาค อย่างเช่น ไซเบอร์ อวกาศ สภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง" เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง