ฮิวแมนไรท์วอทช์-ภาคประชาสังคมไทยร้องสหรัฐฯ ล้มร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอฯ

คุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.06.18
เชียงใหม่
ฮิวแมนไรท์วอทช์-ภาคประชาสังคมไทยร้องสหรัฐฯ ล้มร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอฯ มูลนิธิการกุศลเพื่อบรรเทาทุกข์ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ จากตุรกี พายเรือมาพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563
เอเอฟพี

ฮิวแมนไรท์วอทช์และเครือข่ายภาคประชาสังคมไทย ยื่นจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้ช่วยผลักดันให้รัฐบาลไทยยกเลิกร่าง พ...ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ที่เห็นว่ากระทบอย่างรุนแรงต่อองค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 41 องค์กร รวมทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่ติดตามการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ตามเวลาสหรัฐฯ

“หากมีการบังคับใช้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเป็นภัยคุกคามต่อการทำหน้าที่ของภาคประชาสังคมไทยอย่างรุนแรง รวมทั้งทำลายประสิทธิผลในการทำงานของทั้งผู้ให้ทุนและองค์กรภาคประชาสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และปรับปรุงสิทธิแรงงานในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ ผู้ลงนามในจดหมายนี้จึงร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และสำนักงานเพื่อการติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้ผลักดันให้รัฐบาลไทยยกเลิกร่างพระราชบัญญัตินี้” ข้อความส่วนหนึ่งของจดหมาย ระบุ

เนื้อความในจดหมายได้สรุปข้อกังวล ดังนี้ 1. การให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติการขอจดทะเบียนสำนักงาน ซึ่งอาจไม่เป็นธรรม 2. บทลงโทษหากไม่ขึ้นทะเบียนสำนักงานถึงขั้นจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับ 1 แสนบาท 3. การรับโอนเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย 4. การให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสำนักงาน เครื่องมือสื่อสารอิเลคทรอนิกได้ และ 5. การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 .. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการของร่าง พ...ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งใช้ควบคู่กับ พ...ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ เพื่อควบคุมการทำงานของเอ็นจีโอ หลังพบว่ามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทย จดทะเบียนถูกกฎหมายเพียง 87 องค์กร และหลายองค์กรไม่ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของแหล่งทุน โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับกำลังถูกเสนอให้รัฐสภาพิจารณา

เดิมการจดทะเบียนองค์กรภาคประชาสังคม กระทำได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจดทะเบียนในรูปแบบสมาคมหรือมูลนิธิ ที่ไม่มีเงื่อนไขเข้มงวด

ด้าน นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นแปซิฟิกของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า หากร่างกฎหมายเอ็นจีโอฉบับนี้ผ่าน เท่ากับการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้แค้นภาคประชาสังคมในไทย

“รัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ต้องออกมาช่วยปกป้องภาคประชาสังคมของไทย ซึ่งกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับการเอาคืนของภาครัฐ โทษฐานที่ออกมาเปิดโปงการคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิแรงงาน และคำโกหก รวมถึงความฟอนเฟะของห่วงโซ่อุปทานในไทย” นายฟิล กล่าว

ขณะที่ นายสมชาย หอมลออ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล

“รัฐบาล เอกชน หรือคนธรรมดา ต้องมีสิทธิทำกิจกรรมใด ๆ ก็ได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ร่าง พ...นี้ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าอนุญาตให้ทำกิจกรรมใดได้ หากร่างฯ บังคับใช้จริง เราคงจะต้องดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย องค์กรต่าง ๆ คงไม่ยอม เพราะแม้แต่ชมรม มูลนิธิ หรือกลุ่มกีฬาต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบหมด แบบนี้มันเผด็จการมาก ๆนายสมชาย กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 กุมกาพันธ์ 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคมได้แถลงคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว และเสนอร่าง พ...ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ อีกฉบับ ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อ 11,799 รายชื่อต่อรัฐบาล

นายซาไล บาวี นักสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ซ้ำซ้อนกับกฎหมายบางฉบับที่มีอยู่เดิม

“ปัจจุบัน องค์กรภาคประชาสังคมมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ทั้งกฎหมายนิติบุคคล หรือมูลนิธิ มีการตรวจสอบการเสียภาษี หรือถ้าองค์กรนั้นทำอะไรไม่สุจริต หลอกลวงประชาชน ก็ใช้กฎหมายอื่น ๆ ลงโทษได้ มองในระยะยาวหากกฎหมายนี้ผ่าน เงินทุนที่องค์กรในไทยเคยได้รับจะถูกถ่ายเทไปยังประเทศใกล้เคียงแน่นอน” นายซาไล กล่าว

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อไปยัง นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นของรัฐบาลต่อข้อกังวลของภาคประชาชนสังคมที่มีต่อร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม แต่นายอนุชาปฏิเสธที่จะให้ความเห็น ด้วยเหตุผลว่ายังไม่ได้ศึกษาข้อมูลประกอบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและข้อทักท้วง

ทั้งนี้ ขั้นตอนของการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ครม.จะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะพิจารณาใน 3 วาระ เมื่อมีความเห็นชอบ วุฒิสภาจะดำเนินพิจารณาอีกชั้น 3 วาระ แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะมีการทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง