บลิงเคน : สหรัฐฯ มองหาหนทางอื่นเพื่อนำประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา
2021.12.15
กรุงเทพฯ และปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย
สหรัฐฯ กำลังหา “ขั้นตอนเพิ่มเติม” เพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่า ให้นำเมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ ก่อนที่จะยกเลิกกำหนดการเยือนประเทศไทย หลังจากที่พบผู้ร่วมเดินทางในคณะของเขาติดเชื้อโควิด-19 โดยนี่เป็นการเยือนภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการของเขา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ตลอดจนแคนาดาและสหราชอาณาจักร ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 คน และสามหน่วยงานทหารของเมียนมา โดยกล่าวหาว่าเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชน
“สถานการณ์ในเมียนมายังไม่ดีขึ้น เราได้หารือกันเป็นเวลานานแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้” บลิงเคนบอกกับผู้สื่อข่าว หลังจากที่พบปะกับนายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ในเมืองปุตราจายา
“ผมคิดว่าจะสำคัญมากในสัปดาห์ ในเดิอนต่อไปข้างหน้านี้ ที่เราควรต้องพิจารณาหาขั้นตอน และมาตรการเพิ่มเติมที่แต่ละประเทศจะสามารถทำได้ และที่เราจะร่วมมือกันทำได้ เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารนำประเทศกลับคืนสู่วิถีประชาธิปไตย”
นายแอนโทนี บลิงเคน เดินทางมาถึงมาเลเซีย หลังจากไปเยือนอินโดนีเซีย และมีแผนที่จะเดินทางไปยังกรุงเทพฯ จุดหมายแห่งที่สามและแห่งสุดท้ายของการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกของเขา ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาต้องยกเลิกการเยือนประเทศไทย และเดินทางกลับกรุงวอชิงตัน ดีซี ทันที เนื่องจากพบว่า หนึ่งในคณะผู้ร่วมเดินทางของเขาติดเชื้อโควิด
เขาได้พูดคุยกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย และชี้แจงเหตุผลของการระงับการเดินทางเยือนไทยว่า “เพราะต้องการระมัดระวังให้มากที่สุด” นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายงาน
“ท่านรัฐมนตรีได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยให้มาเยือนวอชิงตัน ดีซี เมื่อมีโอกาส และท่านยังบอกด้วยว่า หวังที่จะได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทั้งสองได้ยืนยันว่าจะใช้การพบปะพูดคุยกันที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และไทย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์
นายแอนโทนี บลิงเคน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งนางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือน และยอมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังเมียนมาได้อย่างสะดวก หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายลงในประเทศ
เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกโค่นโดยการทำรัฐประหารของทหารภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถูกตัดสินจำคุกสี่ปี ในข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดกฎข้อบังคับเกี่ยวกับโควิด-19
เมื่อวันอังคาร เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) สำนักข่าวต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ ได้รายงานการเสียชีวิตของช่างภาพอิสระชื่อ โซ เนง นักข่าวคนแรกที่ถูกสังหารในเมียนมา นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศ
เขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนโลก ขณะถ่ายภาพ “การประท้วงเงียบ” ทั่วประเทศเพื่อแสดงพลังต้านรัฐบาลทหาร เขาเสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัว คนในครอบครัวของเขายืนยัน
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร พลเรือนกว่า 8,000 คนถูกจับกุมตัว และ 1,343 คนถูกสังหาร ส่วนใหญ่ในระหว่างการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยรัฐบาลทหาร ตามรายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ
สอบสวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นายแอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังสืบสวนหลักฐานที่อาจบ่งชี้ถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา
“เรายังคอยดูอยู่เรื่อย ๆ ว่าเมียนมากระทำการอะไรบ้าง และการกระทำเหล่านั้นถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่เรากำลังคอยดูอยู่ในตอนนี้” เขากล่าว
เขายังกล่าวด้วยว่า เมียนมา จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่จะหารือกันในระหว่างการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน ซึ่งได้วางแผนไว้แล้วว่าจะจัดขึ้นในปีหน้า ประเด็นอื่น ๆ ที่คาดว่าจะหารือกันได้แก่ การฟื้นตัวจากโควิด-19 การค้า และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ประเทศที่เป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สำหรับปีหน้า ได้ประกาศแต่งตั้งนายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ให้เป็นผู้แทนพิเศษของอาเซียนว่าด้วยกิจการพม่า สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงาน
นายปรัก สุคน รับตำแหน่งผู้แทนพิเศษต่อจากนายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน รัฐบาลบรูไนสิ้นสุดการทำหน้าที่ประธานอาเซียนที่มีวาระหนึ่งปีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมียนมาเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศสมาชิกของอาเซียน
นักวิเคราะห์เคลือบแคลง
นักวิเคราะห์สถานการณ์ในภูมิภาคคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ สงสัยว่าสหรัฐฯ จะคว่ำบาตรเมียนมาหรือไม่ เนื่องจากความสัมพันธ์ของเมียนมากับจีน
“จีนจะประณามสิ่งที่สหรัฐฯ พยายามบังคับใช้กับเมียนมา ซึ่งจะทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ” ไอแซต ไครี บอกแก่เบนาร์นิวส์
นายแอนโทนี บลิงเคน จึงกำลังพยายามให้ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซียและอินโดนีเซีย กดดันเมียนมาแทน ไอแซต ไครี กล่าว
“ทว่า นโยบายของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก ทำอะไรมากไม่ได้ในการกดดันเมียนมา” เขากล่าว “ดังนั้น ความคิดของนายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ที่ขอให้อาเซียน ‘ตั้งคำถามกับตัวเอง’ ดูเหมือนจะเหมาะสมกว่า เพื่อขอร้องให้ผู้นำทหารในเมียนมานำประเทศกลับสู่เส้นทางแห่งประชาธิปไตย โดยมีกำหนดระยะเวลาและเป้าหมายที่ชัดเจน”
ก่อนหน้านี้ นายไซฟุดดินได้เรียกร้องให้อาเซียน “ตั้งคำถามกับตัวเอง” เกี่ยวกับหลักการของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก
“ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ อาเซียนจะต้องค้นหาว่า บางที ควรมี – มีแผน A และแผน B และแผน C และไม่ใช่แค่ยึดติดอยู่กับแผนเดียว และเมื่อแผนนั้นใช้ไม่ได้ผล ก็ยังคงยึดติดกับแผนนั้นอยู่อีก ดังนั้น เราจึงต้องตั้งคำถามกับตัวเอง” นายไซฟุดดินบอกกับผู้สื่อข่าว เมื่อวันพุธ
เมื่อเดือนตุลาคม ผู้นำอาเซียนไม่เชิญพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน หลังจากที่ขัดแย้งกัน เพราะรัฐบาลทหารเมียนมาตั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับการเยือนเมียนมาของผู้แทนพิเศษอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติพิเศษห้าข้อที่ได้ตกลงกันไว้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนเมษายน
ฉันทามติดังกล่าวรวมถึงการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมาทันที การเจรจาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษขึ้นมา
รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมให้นายเอรีวัน ยูซอฟ ผู้แทนพิเศษจากบรูไน เข้าพบกับนางออง ซาน ซูจี เพราะเธอถูกตั้งข้อหาอาชญากรรม
เมื่อวันพุธ นายไซฟุดดินเสนอแนะว่า อาเซียนควรระบุเป้าหมายที่แน่ชัด เพื่อวัดความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา เขาคาดว่าจะมีการหารือกันถึงเรื่องนี้ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 19 มกราคม
“เราควรพิจารณากันว่าขั้นตอนที่แท้จริงต่อไปควรเป็นอะไร เช่น เราควรระบุเป้าหมายที่แท้จริง เรามีฉันทามติห้าข้อแล้ว แต่เราไม่ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่าจะต้องบรรลุสิ่งเหล่านั้นเมื่อใดและอย่างไร” นายไซฟุดดินกล่าว