จีนหวังผลักดันเส้นทางรถไฟไทย-จีน มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
2024.01.29
กรุงเทพฯ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการหารือกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า จีนหวังผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มูลค่าหลายพันล้านเหรียญให้สำเร็จ
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า การที่จีนจะส่งหมีแพนด้ามาจัดแสดงที่ประเทศไทย เป็นการสะท้อนความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนชื่นชมนายเศรษฐาที่ตัดสินใจเยือนจีนเป็นประเทศแรกนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันพัฒนายกระดับความร่วมมือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เร่งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ไทย และเปิดเส้นทางสายกลางเส้นทางรถไฟสายทรานส์-เอเชีย” นายหวัง กล่าวกับนายเศรษฐาระหว่างการประชุม แถลงการณ์ระบุ
ประเทศทั้งหลายควร "ตระหนักถึงความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และส่งเสริมการดำเนินการตามวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างกันของจีน ลาว และไทยแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เกิดแรงผลักดันและเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาระยะยาวของทั้งสองประเทศ” นักการทูตระดับสูงของจีนกล่าว
นายหวังไม่ได้บอกว่า เส้นทางรถไฟจีน-ไทยจะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ตามรายงานข่าวเมื่อปีที่แล้ว ไทยกำลังพิจารณาวันที่แล้วเสร็จในปี 2571
นายเศรษฐากล่าวว่า เขาและนายหวังได้พูดคุยเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะขยายจากจังหวัดหนองคายผ่านลาวเข้าสู่จีน
“โครงการนี้มีความท้าทายในเรื่องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จึงมีการตกลงกันว่า คณะทำงานจากทั้งสองประเทศจะเพิ่มความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้” นายเศรษฐากล่าว
โครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt & Road Initiative) ของจีน ซึ่งเป็นแผนอันทะเยอทะยานของจีนในการสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และห่วงโซ่อุปทานที่จะเชื่อมโยงจีนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก เส้นทางรถไฟจะเชื่อมเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านจังหวัดหนองคายและประเทศลาว
นายเศรษฐากล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคมว่า ไทยวางแผนที่จะเร่งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไปยังประเทศจีน หากยังล่าช้าเนื่องมาจากการแพร่ระบาดและสาเหตุอื่น ๆ
“โลจิสติกส์เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับไทยในความร่วมมือ BRI และไทยจะต้องยกระดับการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างรถไฟภายในประเทศกับรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็นโครงการ BRI หลักในภูมิภาค” นายเศรษฐากล่าว ขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของจีนในขณะนั้น
หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมียที่ยืมมาจากจีนเป็นเวลา 10 ปี ขณะกินไผ่ ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2548 (อภิชาติ วีระวงษ์/เอพี)
นายเศรษฐา กล่าวหลังการหารือกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศจีน ว่าจีนรับปากจะให้ประเทศไทยยืมหมีแพนด้า
“สวนสัตว์ที่เชียงใหม่เคยมีหมีแพนด้า ปัจจุบันนี้ก็ไม่มี ซึ่งมันก็ไม่ใช่กระจกสะท้อนที่ดีกับความสัมพันธ์ทางการทูตที่เรามีมาอย่างดีกับประเทศจีนตลอด 50 ปี ก็เลยเรียนขอท่าน (นายหวัง อี้) ไป ท่านก็ยินดีให้การสนับสนุน เราก็จะหมีแพนด้ากลับมาอีกครั้งนึงมาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่” นายเศรษฐา กล่าว
ประเทศจีนเคยให้ไทยยืมหมีแพนด้า 1 คู่ เป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน มาจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ในปี 2546 เป็นแพนด้าเพศผู้ชื่อ “ช่วงช่วง” และเพศเมีย “หลินฮุ่ย” ต่อมาหลินฮุ่ย ตั้งท้องด้วยการผสมเทียม และคลอด “หลินปิง” แพนด้าเพศเมียออกมาในปี 2552 แต่ในปี 2556 หลินปิงถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน
ต่อมาในปี 2562 ช่วงช่วง เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวขณะอายุ 19 ปี และในปี 2566 หลินฮุ่ย ได้ป่วยและเสียชีวิตลงด้วยอายุ 21 ปี ทำให้ประเทศไทยไม่มีหมีแพนด้าอีกนับแต่นั้นมา
ข้อดี-เสีย ฟรีวีซ่าไทย-จีน
นายเศรษฐา เผยในวันจันทร์ หลังหารือกับนายหวัง โดยหวังว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวหลังข้อตกลงฟรีวีซ่าถาวร อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจไทยกังวล ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจะกลับมา แต่ชี้ว่าฟรีวีซ่าให้จีนเป็นเรื่องดีสำหรับการท่องเที่ยวไทย
การเปิดเผยของนายเศรษฐา สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ นายหวังกับนายนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งนามบันทึกความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ฟรีวีซ่า) ระหว่าง 2 ประเทศสำหรับหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567
ซึ่งก่อนหน้านี้ ไทยเคยใช้นโนบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการจูงใจนักท่องเที่ยวชาวจีน
“เราถือว่าความตกลงนี้เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพไทย-จีน ที่มีมายาวนานและความไว้เนื้อเชื่อใจในทุกระดับ ผมมั่นใจว่า หลังจากนี้ไป การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่าง ประชาชนทั้งเพื่อการท่องเที่ยว และติดต่อธุรกิจต่างๆ จะเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งฝั่งไทยและจีนได้อย่างแน่นอน” นายปานปรีย์ ระบุ
นายไพฑูรย์ เมฆลอย ชาวกรุงเทพฯ อายุ 45 ปี มองว่า ฟรีวีซ่าจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจส่งผลกระทบกับประชาชน
“เราคงจะเห็นโปรแกรมทัวร์จีนออกมาขายกันเยอะขึ้น ซึ่งก็ดี กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ บริษัททัวร์ในไทยก็จะได้ฟื้นคืนอีกครั้ง แต่สิ่งที่เราพบเห็นบ่อยคือ คนจีนถ้าอยู่กันเยอะ ๆ ในร้านอาหารก็เสียงดัง ในวัดก็เสียงดัง ข้ามถนนไม่ระวังรถอาจเกิดอุบัติเหตุ เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะหาทางทำความเข้าใจเรื่องมารยาทกับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ใช่เฉพาะจีน” นายไพฑูรย์ กล่าว
ด้าน นายวัลลภ พึ่งนรินทร์ เจ้าของภัตตาคารย่านพระราม 9 กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ชี้ว่า นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ก็มีข้อที่น่ากังวลเช่นกัน
“น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ทัวร์ศูนย์เหรียญ ก่อนโควิด เราเห็นทัวร์จีนเป็นเรื่องปกติ แต่ทัวร์ใหญ่ ๆ ที่เราเห็นนั้น ค่าใช้จ่ายตกถึงคนไทยน้อยมาก เพราะเป็นเครือข่ายจีนเองตั้งแต่ต้นทาง ให้เข้าพัก และกินอาหาร ที่เป็นร้านคนจีน เราอยากได้นักท่องเที่ยวจีนแบบแบกเป้ ที่เงินจะถึงมือคนไทยจริงๆ และอยากเห็นการให้ฟรีวีซ่าประเทศอื่นด้วย” นายวัลลภ กล่าว
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทย 28.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 151% จากปีก่อนหน้า สร้างรายได้ถึง 1.20 ล้านล้านบาท โดยชาติที่เดินทางมามากที่สุดคือ 1. มาเลเซีย 4.5 ล้านคน 2. จีน 3.51 ล้านคน และ 3. เกาหลีใต้ 1.65 ล้านคน
นายเศรษฐา ยังเผยว่า ได้หารือกับนายหวัง เรื่องความร่วมมือระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับการเชิญจีนมาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงร่วมมือกันแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น พนันออนไลน์ ค้ามนุษย์ หลอกลวงทางโทรศัพท์ และยาเสพติด เป็นต้น
นักท่องเที่ยวจีนถ่ายเซลฟี่กับนายเศรษฐา ทวีสิน ในพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มแรกภายใต้โครงการปลอดวีซ่า 5 เดือน ณ สนามบินนานาชาติกรุงเทพฯ วันที่ 25 กันยายน 2566 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
แลนด์บริดจ์กับความกังวล
นายเศรษฐา เปิดเผยหลังการประชุมร่วมในวันจันทร์ว่า จีนสนใจร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์
“เรื่องแลนด์บริดจ์ ท่านเอง (นายหวัง อี้) ก็เอ่ยขึ้นมาเองว่า ทางจีนสนใจ แต่ต้องการข้อมูลเพิ่ม เอกชนจีนก็สนใจที่จะมีส่วนร่วม ในช่วงหลายปีหลัง บริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศจีน มาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากในเมืองไทย ไม่ใช่แค่จะมาเซิร์ฟแค่ความต้องการในประเทศไทยอย่างเดียว จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออก แน่นอนเราต้องมีท่าเรือน้ำลึก เราต้องมีโครงการเมกะโปรเจ็คใหญ่ ๆ เพื่อที่จะซับพอร์ตตรงนี้” นายกรัฐมนตรี ระบุ
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) คือ โครงการสร้างถนนคู่กับรางรถไฟ ระยะทาง 120 กม. เชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยถึงทะเลอันดามัน ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่า จะลดค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และมีความปลอดภัยมากกว่าการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา สร้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนอัตรา และจะทำให้ GDP เติบโต 5.5% ต่อปี หรือราว 6.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อมีการพัฒนาโครงการเต็มรูปแบบ
“แลนด์บริดจ์อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และนำเรื่องความคุ้มค่าทางสังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วมาพิจารณาอย่างจริงจังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่” ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวกับเบนาร์นิวส์
ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ระนอง สัปดาห์ก่อน ชาวระนองและชุมพร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ แก่นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ทบทวนโครงการดังกล่าว เพราะกังวลผลกระทบด้านวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อม ซึ่งนายเศรษฐา ก็รับปากว่าจะนำความเห็นของชาวบ้านไปประกอบการพิจารณา
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน