ศาลขอให้ราชทัณฑ์จัดอาหารฮาลาลให้จำเลยชาวอุยกูร์

ทนายเชื่อ คดีระเบิดราชประสงค์จะมีคำพิพากษาในปี 2568
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.02.21
กรุงเทพฯ
ศาลขอให้ราชทัณฑ์จัดอาหารฮาลาลให้จำเลยชาวอุยกูร์ เจ้าหน้าที่เรือนจำนำตัวจำเลยวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ อาเด็ม คาราดัก (กลาง) และไมไรลี ยูซุฟู (ยืนหลัง นายอาเด็ม) ไปยังศาลทหาร ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559
ชัยวัฒน์ ทรัพย์ประสม/รอยเตอร์

ชูชาติ กันภัย ทนายความของคดีวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ปี 2558 เชื่อว่า คดีนี้จะสามารถมีคำพิพากษาได้ภายในปี 2568 ขณะที่ ศาลได้ทำหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์ให้จัดอาหารฮาลาลให้กับจำเลยทั้งคู่ หลังจากที่จำเลยพยายามเรียกร้องมาร่วม 3 ปี แต่ไม่สำเร็จ ขณะที่ทั้งคู่ปรากฏตัวที่ศาลวันนี้ ในสภาพผ่ายผอมอย่างเห็นได้ชัดและนั่งบนรถเข็น

อาเด็ม คาราดัก และไมไรลี ยูซุฟู สองจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 รายและบาดเจ็บกว่า 120 ราย เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ทางการไทยใช้กำลังส่งชาวมุสลิมอุยกูร์เกือบ 100 คนไปยังประเทศจีน ทั้งสองถูกจับกุมภายในสองสัปดาห์หลังเกิดเหตุระเบิด

ถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 9 ปี ที่อาเด็ม และยูซุฟู จำเลยที่ 1 และ 2 ของคดีวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ยังคงถูกควบคุมตัวอย่างโดดเดี่ยวในเรือนจำชั่วคราว หลักสี่ ด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรม

ทั้งสองถูกนำตัวมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันอังคาร เพื่อฟังการสืบพยานโจทก์ ทั้งคู่มีรูปร่างผอมลงมากจาก 9 ปีก่อน และต้องนั่งรถเข็นเนื่องจากสุขภาพอ่อนแอเกินกว่าจะยืนหรือเดินด้วยตัวเองไหว

อาเด็ม เพิ่งถูกถอนฟันไป 7 ซี่ ต้องใส่ฟันปลอม เดินไม่ได้มา 6 เดือนกว่าแล้ว เพราะขาไม่มีแรง เดินแล้วหน้ามืด ส่วนผมต้องนั่งรถเข็น เพราะไปผ่าตัดไส้เลื่อนมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมยังต้องนอนโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีก 2 สัปดาห์ หมอถึงจะให้ออก อาเด็มตอนนี้อยู่เรือนจำทหาร (ชั่วคราว หลักสี่) คนเดียวไมไรลี กล่าวกับเบนาร์นิวส์เป็นภาษาไทย

การพิจารณาคดีล่าช้า ทำให้ไมไรลีใช้เวลาเรียนรู้ภาษาไทย จนพูดได้คล่องแคล่ว สื่อสารพูดคุยกับทนายความ และหยอกล้อกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้อย่างสะดวก เขาจึงทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทยให้ อาเด็ม ที่พูดและฟังภาษาไทยได้น้อยกว่า

ไมไรลี ใช้เวลาช่วงสั้น ๆ ระหว่างรอการพิจารณาเล่าว่า ร่างกายของทั้งตนเองในวัย 35 ปี และอาเด็ม 39 ปี ทรุดโทรมมาก น้ำหนักลดไปกว่า 10 กิโลกรัม ปวดท้อง และท้องอืดเป็นประจำ เพราะสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก อาหารการกินไม่สะดวก แม้ทนายความ และมูลนิธิศักยภาพชุมชนจะพยายามส่งอาหารไปให้ แต่หลายครั้งยังไม่เพียงพอ

พวกเขายังคงต้องเผชิญกับปัญหาเดิมที่พบมาตลอดคือ อาหารที่เรือนจำจัดสรรให้ไม่สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนา เพราะเรือนจำชั่วคราว หลักสี่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยเขตทหาร ยังไม่ได้จัดอาหารฮาลาลให้พวกเขาตามหลักศาสนาอิสลาม แม้เรือนจำแห่งนี้จะมีผู้ต้องขังเพียงพวกเขาแค่ 2 คน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ในบางมื้อ อาเด็ม และไมไรลี ต้องอดอาหาร

“3 ปีแล้ว เขาไม่มีอาหารฮาลาลให้เรา เราบอกเขาว่า เราไม่กินหมู เขาก็ยังเอามาให้เรากิน แล้วบอกว่าไม่มีหมู พอกินไปก็เจอหมูสับ กินไปเจอเลือดไก่ เรากินไม่ได้ อยากให้เขาจัดอาหารให้เราด้วย มีหมูทุกอาทิตย์เลย วันที่ 3 มกราคม มีหมู วันที่ 4 มกราคมมีเลือด ผมจำได้ไมไรลี ลุกขึ้นพูดกับผู้พิพากษาด้วยภาษาไทย

เบนาร์นิวส์เคยรายงานเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 แต่วันอังคารนี้นับเป็นครั้งแรกที่ศาลยืนยันเป็นทางการว่าจะแจ้งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์ 

ศาลจะทำเรื่องไปกรมราชทัณฑ์กำชับว่า มันเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ต้องจัดอาหารให้ตามหลักศาสนา ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะบันทึกถึงเรือนจำให้จัดอาหารฮาลาลให้กับจำเลยตามสิทธิที่เขาพึงได้รับผู้พิพากษา ระบุ

ทนายชูชาติ ระบุว่า จำเลยทั้งคู่ต้องการจะย้ายที่คุมขังจากเรือนจำชั่วคราว หลักสี่ ไปอยู่ในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่าสภาพความเป็นอยู่ และอาหารน่าจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ความต้องการดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาล

สืบพยานไปแล้ว 50 ปาก จากบัญชีพยานประมาณ 100 คน เชื่อว่าในปีหน้า (2568) น่าจะอ่านคำพิพากษาได้ชูชาติ กล่าวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

240221-th-uyghur-bomb-trial 2.jpeg

ชายหนุ่มกราบไหว้ที่ศาลท้าวมหาพรหม ที่แยกราชประสงค์ หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าเกิดเหตุระเบิด ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 สิงหาคม 2558 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ความเป็นมา 9 ปี คดีระเบิดราชประสงค์

ค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เกิดเหตุระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 120 ราย วันถัดมาเกิดระเบิดที่ท่าเรือสาทร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดใกล้ที่เกิดเหตุพบ ชายต้องสงสัยในเสื้อสีเหลือง วางกระเป๋าที่เชื่อว่าบรรจุระเบิดทิ้งไว้บนเก้าอี้ และให้หลังไม่กี่นาทีระเบิดถูกจุดชนวนขึ้น

ปลายเดือนสิงหาคม 2558 ตำรวจควบคุมตัว อาเด็ม ที่พูนอนันต์อพาร์ทเมนต์ ย่านหนองจอก โดยตำรวจระบุว่า อาเด็มมีอีกชื่อหนึ่งคือ บิลาล โมฮัมเหม็ด และต่อมา ไมไรลี ถูกคุมตัวที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทั้งคู่เป็นคนเชื้อสายอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง อุยกูร์ ประเทศจีน หลังการจับกุมตำรวจแถลงข่าวว่า อาเด็มสารภาพว่าเป็นคนวางระเบิดในชั้นสอบสวน

คดีถูกส่งฟ้องที่ศาลทหารด้วยข้อหา ร่วมกันมีวัตถุระเบิด, ใช้วัตถุระเบิดฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิด, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษสูงสุดของข้อหาทั้งหมดคือ ประหารชีวิต16 กุมภาพันธ์ 2559 ทั้งคู่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีครั้งแรก อาเด็ม และไมไรลี ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอาเด็มให้การต่อศาลว่า ตนเองถูกทรมาน จึงรับสารภาพในชั้นสอบสวน และยืนยันที่จะต่อสู้คดี อัยการทหารเรียกพยานกว่า 700 ปาก แต่จำเลยไม่สามารถหาพยานได้ ติดต่อได้แม้กระทั่งคนในครอบครัว การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า ด้วยปัญหาขาดแคลนล่ามภาษาอุยกูร์ และการผิดนัดของพยาน ทั้งคู่ไม่เคยได้รับการประกันตัว 

ปี 2562 คดีนี้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารสู่ศาลพลเรือน แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาขาดแคลนล่ามทำให้คดีความต้องล่าช้าออกไป ก่อนจะสามารถกลับมาพิจารณาได้อีกครั้งในปี 2565 เพื่อความรวดเร็ว ทนายจำเลยพยายามขอตัดพยานให้น้อยลง จำเลยพยายามร้องขอใช้ล่ามจากสภาอุยกูร์โลก แต่ศาลไม่อนุญาติ ก่อนที่จะยินยอมให้ใช้ล่ามที่สถานเอกอัครราชทูตจีนจัดหา ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับจำเลย และองค์กรสิทธิมนุษยชน

ถึงปัจจุบัน มีการสืบพยานไปแล้ว 50 ปาก จากบัญชีพยานร่วม 100 ปาก แม้เข้าสู่ปี 2567 แต่การสืบพยานยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า เพราะ พยานฝ่ายโจทก์บางคนไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด ในการสืบพยาน ทนายความพยายามซักเพื่อชี้ให้เห็นว่า การจับกุมและตรวจค้นของเจ้าหน้าที่มีข้อสงสัย และไม่เป็นไปตามมาตรการปกติหลายประเด็น

ในวันอังคารนี้ พ.ต.อ. ธนาพันธ์ ผดุงการ อดีต รอง ผกก.สน. มีนบุรี ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ให้การต่อศาลว่า เป็นผู้รับผิดชอบการตรวจค้นห้องพักที่เชื่อว่า จำเลยเคยอยู่อาศัย และพบวัตถุที่เชื่อว่าสามารถใช้ประกอบระเบิดได้ ขณะที่ ทนายจำเลยพยายามถามค้านว่า หลักฐานการรับรองพยานคลาดเคลื่อน

ทนายความได้นำภาพจากหนังสือเดินทางที่ตำรวจใช้เป็นหลักฐานหนึ่งในการจับกุมอาเด็ม มาให้ พ.ต.อ. ธนาพันธ์ ดูและเปรียบเทียบกับอาเด็มตัวจริงที่มาฟังการสืบพยาน ซึ่ง พ.ต.อ. ธนาพันธ์ ยอมรับว่า มีลักษณะแตกต่างกัน และมีข้อมูลบางอย่างที่ พ.ต.อ. ธนาพันธ์ จำคลาดเคลื่อน

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งติดตามการสืบพยานในคดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระบุว่า บรรยากาศการต่อสู้คดีของ อาเด็ม และไมไรลี มีแนวโน้มดีขึ้น

คดีมีความก้าวหน้า และเห็นว่าศาลมีเจตนาดีที่พยายามให้คดีจบโดยเร็ว มีการสั่งให้อัยการกับทนายตัดพยานที่ไม่จำเป็นออก ในเรื่องคดีการซักของทนายที่พยายามยืนยันเรื่องกายภาพจริง กับพาสปอร์ตต่างกันก็ทำให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองคนมีความหวัง ว่าทั้งคู่อาจรอด แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลนางชลิดา กล่าว

สิ่งที่อยากให้ภาคประชาสังคม และนานาชาติให้ความสำคัญคือ ถ้าทั้งคู่พ้นคดี จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา เพราะถ้าได้รับการปล่อยตัว จีนขอตัวเขากลับประเทศก็จะเป็นเรื่อง เพราะเขาต้องต่อสู้มาเป็น 10 ปี เราต้องร่วมกันหาวิธีว่าจะรับมือยังไง หรือมีประเทศอื่นไหมที่พร้อมรับทั้งคู่ไปลี้ภัย ซึ่งก็น่าจะทำให้เขาปลอดภัยกว่านางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง