ผู้อพยพชาวอุยกูร์ยังถูกกักตัว ในกรุงเทพฯ นานนับสิบปี
2024.03.11
กรุงเทพฯ
หลังหลบหนีการกดขี่ข่มเหงของจีน และเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อน ชาวอุยกูร์กว่า 40 คน ยังคงถูกกักตัวภายในห้องกักตัวที่คับแคบต่อไป โดยไม่อาจรู้ชะตากรรมตนเอง สืบเนื่องจากข้อหาการเดินทางเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ครอบครัวของพวกเขาและกลุ่มสิทธิฯ กล่าวในงานสัมมนา เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ไทยและองค์กรพัฒนาเอกชน เผยว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาวอุยกูร์กว่า 500 คน ที่หลบหนีออกจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในประเทศจีน มายังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยหวังจะได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศตุรกีผ่านทางมาเลเซีย แต่มีเพียง 100 คนเท่านั้น ที่สามารถดำเนินการตามกระบวนการยุ่งยากได้สำเร็จ
ตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึง 2557 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยได้จับกุมชาวอุยกูร์อย่างน้อย 475 คน ซึ่งส่วนใหญ่จับกุมที่สวนยางพารา ในจังหวัดสงขลา และควบคุมตัวพวกเขาไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ตามบันทึกของทางการ
ผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ถูกส่งตัวกลับไปยังสถานกักกันเมืองสงขลา ภาคใต้ หลังจากไปเยี่ยมผู้หญิงและเด็กในสถานพักพิงแยกต่างหาก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 (รอยเตอร์)
ชาวอุยกูร์ที่ยังอยู่ในศูนย์กักตัวถือเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย พวกเขาอยู่ใน “สภาพที่ย่ำแย่” และไม่สามารถสื่อสารกับผู้คนภายนอก รัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว พร้อมกับแสดงความกังวลว่า หากมีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ชีวิตของพวกเขาอาจตกอยู่ในอันตราย
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาประเทศที่สามหรือจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์โดยด่วน” เธอกล่าวในงานสัมมนาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะเดียวกันกับรัฐบาลพลเรือนที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบในการคัดกรองคนต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้” เธอกล่าว “ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขอลี้ภัย รวมถึงชาวอุยกูร์ด้วย”
เบนาร์นิวส์ติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ณ เวลาที่เผยแพร่ข้อมูลนี้
ความหวังอันน้อยนิดจากรัฐบาลพลเรือน
ภายใต้การบริหารประเทศของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายพลกองทัพบกที่ขึ้นสู่อำนาจจากการทำรัฐประหาร เมื่อพฤษภาคม 2557 ชีวิตของชาวอุยกูร์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
หนึ่งเดือนหลังจากที่ชายชาวอุยกูร์ 109 คน ถูกส่งตัวกลับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 ราย เจ้าหน้าที่ไทยเชื่อว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นการตอบโต้จีนที่ขัดขวางไม่ให้มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไปยังตุรกี หลังจากที่มีการรับตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์มากกว่า 170 คน ไปยังเมืองอังการาก่อนหน้า
ขณะนั้น สถานทูตตุรกีในกรุงเทพฯ กล่าวยินดีรับชาวอุยกูร์ทุกคน แต่จีนคัดค้าน ทางรัฐบาลจีนยังคงติดตามสถานะผู้ต้องกักอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลไทยเลี่ยงที่จะตอบคำถาม
แม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติ แต่องค์กรพัฒนาเอกชนไทย กล่าวว่า การโน้มน้าวรัฐบาลให้ปล่อยตัวชาวอุยกูร์ ยังคงเป็นเรื่องยาก
“ชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ [ที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไร] แต่จีนยังส่งหนังสือเพื่อติดตามชาวอุยกูร์กับกระทรวงการต่างประเทศของไทยแทบทุกวัน” กล่าว ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในประเทศไทย
เธอกล่าวว่า การเข้าถึงผู้ต้องกักขององค์กรเอ็นจีโอ และแม้แต่เจ้าหน้าที่ไทยนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะผู้ต้องสงสัยวางระเบิด 2 ราย เนื่องจากรัฐบาลเรียกเรื่องนี้ว่าเป็น “ประเด็นด้านความมั่นคงที่เป็นความลับสุดยอด”
สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า มีกลุ่มชาวอุยกูร์ถูกกักตัวอยู่ ย่านสาทร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 (เอเอฟพี)
ตามข้อมูลจากสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเยอรมนี รายงานว่า มีชาวอุยกูร์อย่างน้อย 5 คน เสียชีวิตขณะถูกกักตัว
รัตติกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะยังคงสนับสนุนข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อไป
ข้อเสนอแนะดังกล่าว ได้แก่ การกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม การจัดให้มีบริการด้านการสนับสนุนทางด้านจิตใจ การอำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับบุคคลภายนอก การแจ้งเตือนทันที ในกรณีที่มีการเสียชีวิต รวมถึงการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ภายในสถานกักกัน
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังเรียกร้องให้ทางการระบุรายชื่อประเทศที่สาม สำหรับผู้ขอลี้ภัย และดำเนินนโยบาย "ไม่ส่งตัวกลับประเทศ" ในกรณีที่อาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้ต้องกัก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบจากฝ่ายบริหารของเศรษฐาเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเหล่านี้
“คิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีนโยบายเสรีนิยมกว่านี้ หรือมีนโยบายที่สมดุลในเรื่องนี้ หรือในประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป แต่ก็ผิดหวัง ยังไม่ได้ยินอะไรเกี่ยวกับการสนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยของรัฐบาลชุดนี้เลย” เธอกล่าว
หลังจาก 9 ปี ของการบริหารโดยรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคหลักในกลุ่มรัฐบาลผสม อาจจะไม่ทำอะไรมากนักในการปรับปรุงการมุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชนของฝ่ายบริหาร
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองหลายคนเชื่อว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสื่อขนานนามว่าเป็น “เซลส์แมน” ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ จะมองข้ามประเด็นข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน
แต่ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า เศรษฐาจะต้องหยุดยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันจากรัฐบาลจีน
“ไทยควรพูดกับจีนว่า ‘ดูนะ ตามกฎหมายของเรา แล้วก็มาตรฐานสากล เราส่งพวกเขากลับไปไม่ได้’”
เฝ้ารอพ่อ
ในภาพวิดีโอระหว่างการสัมมนาเมื่อวันเสาร์ ชายผู้หนึ่งที่อยู่ในประเทศตุรกี ผู้ซึ่งพ่อของเขายังถูกกักตัวอยู่ในห้องกักที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัย แต่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยด้วยความจำเป็น และครอบครัวของเขายังคงเฝ้ารอวันที่จะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง
ชายคนดังกล่าว กล่าวว่า พ่อแม่และพี่น้องของเขาถูกกักตัวอยู่ที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 ก่อนที่ทุกคนยกเว้นพ่อของเขาจะได้รับการปล่อยตัวให้ไปตั้งถิ่นฐานในตุรกี
“คนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราไม่อยู่ที่นี่… เรารู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่เรากอดเขาไม่ได้” เขากล่าว โดยไม่ประสงค์ออกนามเพื่อปกป้องครอบครัวของตน
“การที่พ่อไม่ได้อยู่ที่นี่กับเรา คือความเจ็บปวดที่ชัดเจนสุดในใจของเรา”