เอ็นจีโอร้องรัฐสภาให้ช่วยอุยกูร์ 50 กว่าราย ออกมาอยู่ตามปอเนาะ
2022.06.15
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอไทย 14 องค์กร ได้ยื่นหนังสือผ่านกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภา เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้พิจารณาปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันตัวมาเป็นเวลาเกือบสิบปี โดยให้ออกมาพักพิงอยู่ตามโรงเรียนปอเนาะ แทนการกักขังในศูนย์กักกันตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และจะต้องไม่ส่งตัวพวกเขาไปให้ทางการจีน
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และเอ็นจีโออื่น ๆ ได้นำหนังสือไปยื่นให้กับนายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการต่างประเทศ รัฐสภา ในตอนเช้าวันนี้ เพื่อขอให้รัฐบาลแสดงนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับชาวอุยกูร์เหล่านี้ ซึ่งนายรังสิมันต์ กล่าวรับปากว่าจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อดำเนินการผ่านกระบวนการรัฐสภา และนำเสนอให้รัฐบาลรับทราบ
หนังสือร้องเรียน ระบุข้อเรียกร้องสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง “ขอให้รัฐบาลไทยดูแลให้ความเป็นธรรม ความปลอดภัย และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอุยกูร์ ไม่ส่งกลับไปประเทศจีน” และสอง “หากเป็นไปได้ขอให้มีการสร้างโรงเรียนปอเนาะ เพื่อเป็นที่ควบคุมตัวชาวอุยกูร์ทั้งหมด โดยให้สำนักจุฬาราชมนตรี, สำนักตรวจคนเข้าเมือง, มหาดไทย และ สำนักงานตำรวจเป็นเจ้าพนักงานดูแล”
“ทั้งหมดนี้ถูกควบคุมตัวใน ตม. มานานเกือบสิบปีแล้ว เพราะฉะนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาว่าให้ปล่อยตัวเขาจาก ตม. หาที่อยู่ที่เหมาะสมให้กับเขาในประเทศไทย... ต้องไม่ส่งตัวพี่น้องอุยกูร์ที่อยู่ในประเทศไทยไปประเทศจีนอย่างเด็ดขาด เพราะมันคือการส่งกลับไปตาย” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวในระหว่างการยื่นหนังสือ
“หรือถ้ารัฐบาลไทยจะอนุญาตให้เขาไปตั้งรกรากในประเทศที่สามได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งหลายประเทศยินดีที่จะรับตัวพี่น้องอุยกูร์ไป ตอนนี้ มันติดอยู่ที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาต เนื่องจากการกดดันของรัฐบาลจีน” นางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม
นางชลิดา กล่าวว่า มีชาวอุยกูร์ถูกกักตัวอยู่ระหว่าง 52 ถึง 56 คน ในศูนย์กักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ในขณะนี้
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่า ตนจะนำหนังสือเรียกร้องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภา และจะเชิญตัวแทนฝั่งรัฐบาลไทย เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ร้องเรียนมาชี้แจงในเรื่องนี้
“ผมเห็นด้วยว่าในระหว่างที่เราต้องรอเจรจาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ เข้าใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ ณ ปัจจุบัน เราสามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่แค่คนอุยกูร์ที่เข้ามาอยู่ในประเทศตอนนี้ แต่รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อสายตาของต่างประเทศที่กำลังมองเรา... ข้อเรียกร้องแบบนี้ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไปที่รัฐบาลไทยจะทำไม่ได้” นายรังสิมันต์ กล่าว
ในวันดียวกันนี้ นายพอลัต ซายิม ชาวอุยกูร์ในออสเตรเลียที่ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการช่วยเหลือชาวอุยกูร์ กล่าวว่า ทางการไทยควรทำอะไรสักอย่างเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม
“พวกเขาถูกกักตัวในศูนย์ ตม. มานานเกือบ 10 ปีแล้ว ในสภาพที่เลวร้าย ไม่มีอาหารฮาลาล รัฐบาลไทยจึงควรที่จะเปิดประตูให้เขาออกไป เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากถูกจับกุมก็ได้ถูกลงโทษจองจำแล้ว เขาควรจะได้รับอิสรภาพได้แล้ว และให้ไปประเทศที่สาม ประเทศที่ปลอดภัย” นายพอลัต กล่าว
ชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในแคว้นซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศจีน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “มีความเชื่อทางศาสนาที่เข้มข้น” และมีความคิด “ที่ไม่ถูกต้องในแง่การเมือง” ทางการจีนจึงควบคุมชาวอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่น ๆ อีก ถึง 1.5 ล้านคน ไว้ในค่ายกักกันตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งได้บังคับให้แต่งงานกับชาวฮั่น เพื่อกลืนชาติพันธุ์
ในห้วงปี 2556 ถึง 2557 ชาวอุยกูร์กว่าสี่ร้อยคนได้หนีเข้ามายังประเทศไทย ผ่านทางประเทศลาวและกัมพูชา โดยเชื่อว่ามีขบวนการนำพาคนต่างด้าวให้ความช่วยเหลือ เพื่อเดินทางไปยังภาคใต้ของไทย มุ่งหน้าไปมาเลเซีย หรือประเทศมุสลิมอื่น ๆ เช่น ตุรกี ซึ่งเป็นเชื้อสาย Turkic เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถจับกุมชายอุยกูร์ได้กว่าสามร้อยคน ซึ่งส่วนหนึ่งหลบซ่อนในสวนยางในจังหวัดสงขลา และในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กไปยังตุรกีกว่า 170 คน แต่เมื่อถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ไทยกลับอนุญาตให้เครื่องบินจากประเทศจีนเข้ามารับตัวชายชาวอุยกูร์ประมาณ 109 คน กลับประเทศ โดยไม่มีใครทราบถึงชะตากรรมของพวกเขาหลังจากนั้น
ผลพวงการส่งตัวครั้งนี้ ทำให้เกิดเหตุวางระเบิดที่บริเวณศาลพระพรหม ที่สี่แยกราชประสงค์ ตามมาในเดือนสิงหาคม 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บกว่า 120 ราย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหาชาวอุยกูร์สองราย คือ นายอาเด็ม คาราดัก (หรือ นายบิลาล โมฮัมเหม็ด) และนายไมไรลี ยูซุฟู ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้