8 ปีระเบิดราชประสงค์ ความล่าช้าของคดี กับความทรุดโทรมของจำเลย
2023.08.29
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ อาเด็ม คาราดัก หนึ่งในสองจำเลยในคดีระเบิดราชประสงค์มาฟังการสืบพยานโจทก์ด้วยรถเข็น เนื่องจากมีสุขภาพย่ำแย่และน้ำหนักลดลงอย่างมาก โดยอาเด็ม กล่าวว่า มีสาเหตุเป็นเพราะในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ซึ่งเขาถูกควบคุมตัวอยู่ไม่ได้ให้อาหารฮาลาลตามความเชื่อของหลักศาสนาอิสลาม
ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เหตุเกิดในเดือนสิงหาคม 2558 อีกครั้ง หลังจากกระบวนหยุดไปตั้งแต่ปลายปี 2565 เพราะทนายของอาเด็มได้รับอุบัติเหตุขาหัก
นายอาเด็ม และนายไมไรลี ยูซุฟู ถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์พามายังศาลในชุดนักโทษสีน้ำตาล ถูกใส่กุญแจมือ และกุญแจเท้า โดยอาเด็ม ต้องนั่งบนรถเข็น เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพจนเดินไม่สะดวก ขณะที่นายไมไรลี ยังสามารถเดินด้วยตนเองได้
“น้ำหนักผมลดจาก 57 กิโลกรัม เหลือ 40 กว่ากิโลกรัม เพราะเรือนจำไม่มีอาหารฮาลาลให้กิน และแพ้อาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบ อยากขอให้เรือนจำจัดอาหารฮาลาลให้” นายอาเด็ม กล่าวผ่านล่าม
อย่างไรก็ตาม ล่ามระบุว่าทั้งนายอาเด็มและไมไรลี ยังกำลังใจดี
ด้านนายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม เปิดเผยว่า คดีนี้ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน
“กระบวนการสืบพยานอาจใช้เวลาอีกประมาณ 5 ปี ช่วงที่ผ่านมาผมก็พยายามเอาอาหารฮาลาลไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำ เพราะเรือนจำไม่ได้จัดอาหารฮาลาลให้กับเขา เรื่องที่จำเลยเขาอยากย้ายไปอยู่เรือนจำปกติ ผมแนะนำให้เขาอยู่ที่นี่ดีกว่าเพราะไม่แออัด และน่าจะสบายกับเขามากกว่า” นายชูชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ขณะที่ นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งเดินทางมายังศาลเพื่อสังเกตการณ์คดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สภาพของจำเลยทั้งคู่ย่ำแย่มากจนน่าเป็นห่วง โดยที่ผ่านมาเรือนจำไม่อนุญาตให้ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทนายความเข้าไปเยี่ยมจำเลย
“ตกใจมากที่เขาสภาพโทรมขนาดนั้น กลัวว่าเขาจะเสียชีวิตก่อนที่จะมีคำพิพากษา เขาผอมมากเพราะกินอะไรไม่ได้ เราอยากเรียกร้องให้เรือนจำทำอาหารฮาลาลให้กับเขาเพราะกลัวว่าเขาจะมีปัญหาสุขภาพไปมากกว่านี้ อยากให้เรือนจำอนุญาตให้มีหมอเข้าไปตรวจสุขภาพเพราะเป็นห่วงเรืองโรคที่เกี่ยวกับท้อง” นางชลิดากล่าว
“ถ้าไม่อนุญาตให้เขาย้ายเรือนจำก็อยากเรียกร้องให้เรือนจำอนุญาตให้คนอื่นที่ไม่ใช่ทนายความเข้าเยี่ยม เพื่ออย่างน้อยเราจะเอาอาหารฮาลาลไปให้เขากิน เราเป็นห่วงสุขภาพของเขา อยากให้เรือนจำปฏิบัติกับทั้ง 2 คนในแบบที่ดีเช่นเดียวกับนักโทษชาวไทย” นางชลิดากล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน จำเลยทั้งคู่ยังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ โดยเรือนจำแห่งนั้นมีผู้ถูกคุมขังเพียง 2 คน ทนายชูชาติระบุ
หลักฐานในโทรศัพท์มือถือ
พล.ต.ท. กำธร อุ่นเจริญ พยานโจทก์ปากที่สาม ให้การต่อศาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า พบสารประกอบระเบิดในห้องของจำเลย
“ในการตรวจค้นห้องพบของสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ ของใช้ส่วนตัว กลุ่มที่สองคือ วัตถุที่สามารถใช้ประกอบระเบิดได้ ยูเรีย ดินดำ ดินเทา” พล.ต.ท. กำธร กล่าว
ด้านทนายฝ่ายจำเลยได้ซักค้านว่า ห้องพักในย่านหนองจอกนั้น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าไปในห้องและยุ่งเหยิงกับหลักฐาน ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึง ซึ่ง พล.ต.ท. กำธร ก็ยืนยันต่อศาลว่า ห้องถูกพังประตูเข้าไป และวัตถุพยานถูกกองรวมกันไว้ที่กลางห้อง ก่อนที่ตำรวจจะไปถึงจริง
ในวันอังคารนี้ ศาลได้สืบพยานโจทก์ 1 ราย คือ พ.ต.อ. ธนาเศรษฐ์ อุดมเอี่ยม ซึ่งเป็นหัวหน้างานสอบสวนในปี 2558 โดยมีอัยการเป็นผู้ซักถามเกี่ยวกับวันที่เกิดเหตุ และการสืบสวนคดี ให้การว่า เจ้าหน้าที่พบโทรศัพท์มือถือของหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีรูปถ่ายระเบิดเก็บไว้ในนั้น แต่ไม่ได้บอกว่าพบในโทรศัพท์ของใคร ส่วนจำเลยทั้งคู่ไม่มีโอกาสให้การต่อศาล
การสืบพยานจะดำเนินต่อไปจนถึงวันศุกร์ ซึ่งศาลมีนัดหมายครั้งต่อไปวันที่ 12-15 ธันวาคม
คดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม และกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้า
คดีของนายอาเด็ม และนายไมไรลี ถูกโอนย้ายจากศาลทหารมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อปลายปี 2562 แต่การพิจารณาคดีต้องเลื่อนมาโดยตลอดด้วยปัญหาไม่สามารถหาล่ามภาษาอุยกูร์ ที่จำเลยทั้งสองคนยอมรับได้ รวมทั้งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยอัยการขอสืบพยานกว่า 400 ปาก ซึ่งศาลได้ขอให้ตัดเหลือเพียงไม่เกิน 100 ปาก เพื่อป้องกันความล่าช้า
กระทั่งมีการเริ่มสืบพยานได้จริง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 โดยใช้ล่ามภาษาอุยกูร์ของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย โดยจนถึงปัจจุบัน สามารถสืบพยานไปได้เพียง 10 กว่าปากเท่านั้น
ปัจจุบัน มูลนิธิศักยภาพชุมชน เชื่อว่า มีชาวอุยกูร์ซึ่งถูกคุมตัวอยู่ในประเทศไทยประมาณ 50 คน ทั้งในห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เรือนจำคลองเปรม และเรือนจำชั่วคราวหลักสี่
คดีของทั้งคู่สืบเนื่องจากการเกิดเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ ในค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558
ตามภาพทีวีวงจรปิด มีผู้ชายใส่เสื้อสีเหลืองวางกระเป๋าซึ่งเชื่อว่าบรรจุระเบิดเอาไว้ตรงม้านั่ง บริเวณศาลฯ ต่อมาชนวนระเบิดถูกจุด แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บกว่า 120 ราย และในวันถัดมามีเหตุระเบิดบริเวณท่าเรือสาทร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
จากนั้น ในปลายเดือนสิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนายอาเด็ม หรือ นายบิลาล โมฮัมเหม็ด ที่พูนอนันต์อพาร์ทเมนต์ ย่านหนองจอก และนายไมไรลี ถูกจับกุมที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะจะข้ามแดนไปยังประเทศกัมพูชา ทั้งคู่มีเชื้อสายอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง อุยกูร์ (XUAR) ประเทศจีน ถูกคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดี และในชั้นพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่อ้างว่า ทั้งคู่รับสารภาพว่าเป็นผู้วางระเบิด
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นายอาเด็ม และนายไมไรลี ได้ขึ้นศาลทหาร กรุงเทพฯ ครั้งแรก และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่า เหตุผลที่ยอมสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกทำร้ายร่างกาย หลังจากนั้นการพิจารณาในชั้นศาลทหารเป็นไปด้วยความล่าช้า ด้วยติดปัญหาเรื่องการหาล่ามภาษาอุยกูร์ และพยานบางคนไม่มาตามนัดศาล