นักสิทธิส่งเสียง ร้องรัฐไทยไม่ส่งกลับนักกิจกรรมเวียดนาม

ทีมข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.07.11
นักสิทธิส่งเสียง ร้องรัฐไทยไม่ส่งกลับนักกิจกรรมเวียดนาม ภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กของอี ควิน เบอดั้บ ก่อนถูกจับกุมโดยตำรวจไทย
เฟซบุ๊ก/Y Quynh Bdap

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลกสองกลุ่มเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกแผนการที่จะส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวมองตานญาดกลับประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่อง “การกดปราบข้ามชาติ” ซึ่งพุ่งเป้าไปยังชาวต่างชาติที่แสวงหาความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย

แอมเนสตี้ระบุว่า อี ควิน เบอดั้บ มีโอกาสที่จะถูกประหัตประหารอย่างรุนแรงในประเทศของเขา

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมเบอดั้บในวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมาในข้อหาถือวีซ่าอยู่ในประเทศไทย “นานเกินกำหนด” หลังจากที่ทางการเวียดนามเรียกร้องให้ส่งตัวเขากลับ เนื่องจากต้องเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีในสัปดาห์หน้า

“รัฐบาลเวียดนามมีชื่อเสียงเรื่องการใช้ความรุนแรงและการกดขี่ทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดมาเป็นเวลายาวนาน หากประเทศไทยยอมรับคำขออันไร้แก่นสารนี้ จะถือว่าเราละเมิดหลักผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย ในประเทศต้นทาง” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ กล่าวในข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยยังไม่ตอบรับคำขอแสดงความเห็นต่อคดีของเบอดั้บ ณ วันที่เผยแพร่ข่าวนี้

กลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ พวกเขาอาศัยอยู่แถบที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม ชาวฝรั่งเศสเรียกพวกเขาว่า “ชาวเขา” ในสมัยยุคล่าอาณานิคม และเป็นกลุ่มคนที่ถูกทางการเวียดนามปราบปรามมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายปี ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คุกคามเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือการเข้าไปยึดที่ดิน

ในเดือนมกราคม ทางการเวียดนามตัดสินจำคุกเบอดั้บ เป็นเวลา 10 ปี ในข้อหาก่อการร้าย โดยกล่าวหาว่าเขาบุกรุกโจมตีสำนักงานสาธารณะ 2 แห่ง ในบริเวณที่ราบสูงตอนกลาง จังหวัดดั๊กลัก ประเทศเวียดนามในปี 2566  ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน ถึงแม้ว่าเบอดั้บจะอยู่ในระหว่างการลี้ภัยในประเทศไทย และได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2561 แล้วก็ตาม

นอกเหนือจากข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ องค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก (CIVICUS Monitor) ยังได้แสดงความกังวลต่อเรื่อง “การกดปราบข้ามชาติ” ในประเทศไทย ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติที่แสวงหาความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย และเพิ่มประเทศไทยเข้าไปในรายการเฝ้าระวังสำหรับประเทศที่เผชิญปัญหาเสรีภาพพลเมืองที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

องค์กรฯ ระบุว่า เบอดั้บ “มีความเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งเขาอาจถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง”

“การปราบปรามข้ามชาติแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะปิดปากหรือปิดกั้นความเห็นต่างโดยดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับพลเมืองในประเทศของตนเอง หรือพลเมืองประเทศอื่น ๆ ที่ลี้ภัยอยู่นอกขอบเขตอำนาจศาลของประเทศพวกเขา” โจเซฟ เบเนดิก เจ้าหน้าที่วิจัยด้านพื้นที่สาธารณะขององค์กร CIVICUS เผย และยังเสริมว่า

“เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เมื่อประเทศที่กําลังลงสมัครตําแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกําลังเอื้ออํานวยการคุกคาม การจับตาเฝ้ามอง และการทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมจากต่างประเทศ ผู้เข้ามาแสวงหาแหล่งลี้ภัยในประเทศไทย

ทางการต้องยุติการกระทําดังกล่าว และอำนวยการสร้างแหล่งพักพิงที่ปลอดภัยให้กับบรรดานักเคลื่อนไหวจากประเทศเพื่อนบ้าน ผู้กำลังหลบหนีการปราบปรามจากประเทศต้นทางของพวกเขา”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง