ศาลไทยเลื่อนนัดไต่สวนคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับเวียดนาม

ภิมุข รักขนาม สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.07.15
ศาลไทยเลื่อนนัดไต่สวนคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับเวียดนาม รูปภาพ อี ควิน เบอดั้บ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนาม (ภาพไม่ระบุวันที่)
เรดิโอฟรีเอเชีย

ศาลตัดสินเลื่อนนัดไต่สวนคดีที่ทางการเวียดนามร้องขอให้ประเทศไทยส่งตัว อี ควิน เบอดั้บ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนกลับประเทศเวียดนาม เมื่อวันจันทร์นี้

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของจำเลย และอดีตผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชี้แจงว่า ศาลรับคำร้องของจำเลย ผู้ต้องการให้มีการแปลเอกสารของคดีให้กลายเป็นภาษาแม่ที่จำเลยเข้าใจ จึงอนุญาตให้มีการเลื่อนพิจารณาคดี และนัดหมายใหม่ในวันที่ 1 และ 19 สิงหาคม

“เราไม่มีเวลามากพอที่จะเตรียมตัวสู้คดีในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่ถูกชี้นำทางการเมือง” ณัฐาศิริ เผยกับผู้สื่อข่าวด้านหน้าศาล เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปฟังการพิจารณาคดี เนื่องจากเป็นกรณีความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม ทนายฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจากทางการเวียดนามหลายรายได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการไต่สวนในครั้งนี้

เดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามตัดสินให้ อี ควิน เบอดั้บ นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนาม วัย 32 ปี ต้องโทษจำคุก 10 ปี ในข้อหาก่อการร้าย โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้อยู่ในกระบวนการฟังคำพิพากษาด้วยซ้ำ ทางการเวียดนามกล่าวหาว่า เขาบุกรุกโจมตีสำนักงานสาธารณะ 2 แห่ง ในปี 2566 ในบริเวณที่ราบสูงตอนกลาง จังหวัดดั๊กลัก ประเทศเวียดนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน

ซึ่งเบอดั้บปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และชี้แจงว่าเขาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี 2561

b3156187-cc83-40bd-8c46-00bab92b9722.jpeg
ทนายความจำเลย ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน บริเวณด้านนอกศาลอาญากรุงเทพฯ วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 (เรดิโอฟรีเอเชีย)

วันที่ 11 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเข้าจับกุมตัวเบอดั้บในข้อหาถือวีซ่าอยู่ในประเทศไทย “นานเกินกำหนด” หลังจากที่กรุงฮานอยเรียกร้องให้ทางการไทยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศต้นทาง แม้ว่าหนึ่งวันก่อนหน้านั้น เบอดั้บจะเพิ่งเข้าพบเอกอัครราชทูตแคนาดา ในกรุงเทพฯ เพื่อยื่นเรื่องขอลี้ภัยในประเทศที่สาม

อี ควิน เบอดั้บ นักกิจกรรมชาวชาติพันธุ์อีเด เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnard Stand for Justice - MSJF) โดยคำว่า “มองตานญาด” เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “ชาวเขา” ซึ่งชาวฝรั่งเศสใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเวียดนามกว่า 30 กลุ่ม ที่นับถือศาสนาคริสต์ และอาศัยอยู่แถบที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม ชาวมองตานญาดและทางการเวียดนามมีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งร่วมกันมาอย่างยาวนาน และชาวมองตานญาดอ้างว่า กลุ่มของตนเองถูกเลือกปฏิบัติในหลายประเด็น เช่น การนับถือศาสนา หรือการถือครองที่ดิน

“เบอดั้บเป็นชนกลุ่มน้อย และเคยถูกทรมาน ตอนนี้เขากลัวว่าตัวเองจะต้องถูกส่งตัวกลับไปที่เวียดนาม” ณัฐาศิริกล่าว และเสริมว่าเธอมีความตั้งมั่นที่จะพิสูจน์ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการโจมตีที่จังหวัดดั๊กลั๊ก

“ประเทศไทยควรจะปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เนื่องจากเบอดั้บเป็นผู้ที่แสวงหาแหล่งลี้ภัยตามหลักการของสหประชาชาติ”

ประเทศไทยลงสมัครตําแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถึง 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งความพยายามครั้งล่าสุดคือการลงสมัครสำหรับวาระปี 2568-2570 โดยการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้

กัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงบันทึกหลักฐานว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน

“ประเทศไทยจะต้องจัดการเรื่องการกดปราบข้ามชาติอย่างถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อกู้ศักดิ์ศรีของเราคืนมา” กัณวีร์ ให้สัมภาษณ์ด้านนอกศาล

ฟรีดอม เฮาส์ องค์กรวิจัยเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ ให้นิยามการกดปราบข้ามชาติว่าคือ การที่ “บรรดารัฐบาลใช้กลวิธีข้ามพรมแดนในการปิดปากผู้มีความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานเพื่อลี้ภัย หรือผู้ที่ถูกเนรเทศออกจากประเทศ รวมไปถึงใช้วิธีการลอบสังหาร การส่งตัวกลับอย่างผิดกฎหมาย การอุ้มหาย การใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อคุกคาม การใช้ตำรวจสากลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางมิชอบ หรือการข่มขู่ครอบครัวของผู้ที่ถูกกล่าวหา”

เบอดั้บถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง