ศาลอาญาตัดสินส่งตัว อี ควิน เบอดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามกลับประเทศ

อี ควิน เบอดั๊บ นักเคลื่อนไหวชาวมองตานญาด ซึ่งโดนข้อหาก่อการร้ายในเวียดนาม กล่าวว่าเขาจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลไทย
ภิมุข รักขนาม สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.09.30
กรุงเทพฯ
ศาลอาญาตัดสินส่งตัว อี ควิน เบอดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามกลับประเทศ รูปภาพ อี ควิน เบอดั้บ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนาม (ภาพไม่ระบุวันที่)
เรดิโอฟรีเอเชีย

ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันจันทร์ว่า อี ควิน เบอดั๊บ ควรจะถูกส่งตัวกลับประเทศเวียดนามเพื่อรับผิดตามข้อกล่าวหา และผู้พิพากษาศาลอาญาระบุว่า มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะตัดสินให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปตามคำขอของรัฐบาลเวียดนาม

โดยฝ่ายรัฐบาลไทยมีสิทธิที่จะตัดสินชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนามรายนี้ ที่กล่าวว่า ตนหวาดกลัวที่จะถูกทารุณกรรมจนถึงแก่ชีวิต หากถูกส่งตัวกลับประเทศ

“ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีการดำเนินการให้มีการส่งตัวจำเลยกลับภายใน 90 วัน หรือไม่” ผู้พิพากษากล่าวในชั้นศาล

เบอดั๊บมีเวลา 30 วัน เพื่อยื่นขออุทธรณ์ และหากเขาไม่ถูกส่งตัวกลับภายใน 90 วัน เขาจะถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ

หลังศาลมีคำพิพากษา เบอดั๊บ วัย 32 ปี ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล ยังมีท่าทีสงบ จากนั้นเขาถูกส่งตัวกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเรือนจำที่เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน

เบอดั๊บ เป็นชาวชาติพันธุ์อีเด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ราว 30 กลุ่ม ผู้อาศัยอยู่แถบที่ราบสูงตอนกลางในประเทศเวียดนาม โดย คำว่า มองตานญาดเป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ชาวเขา ซึ่งชาวฝรั่งเศสใช้เรียกคนกลุ่มนี้ในช่วงล่าอาณานิคม

ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ชาวมองตานญาดส่วนใหญ่อ้างว่า กลุ่มของตนถูกเลือกปฏิบัติจากทางการเวียดนามในหลายประเด็น เช่น การนับถือศาสนา หรือการถือครองที่ดิน ซึ่งทางการเวียดนามปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ศาลเวียดนามตั้งข้อกล่าวหาว่า เบอดั๊บลงมือก่อการร้ายในเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งการกระทำของเขาเชื่อมโยงกับการบุกรุกโจมตีสำนักงานสาธารณะ 2 แห่ง ในบริเวณที่ราบสูงตอนกลาง จังหวัดดั๊กลัก ประเทศเวียดนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน และต้องโทษจำคุก 10 ปี ในข้อหาก่อการร้าย

แต่เบอดั๊บปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และอ้างว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เขาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย

ตั้งแต่ปี 2561 เบอดั้บ นักกิจกรรมชาวชาติพันธุ์อีเด ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnard Stand for Justice - MSJF) พำนักอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยกับครอบครัว

รัฐบาลไทยต้องเป็นผู้ตัดสิน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้มอบสถานะผู้ลี้ภัยให้กับเบอดั๊บ เขาจึงมีสิทธิในการใช้ชีวิต ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ แม้ว่าประเทศไทยยังไม่เคยลงสัตยาบัน ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย ปี 2494 ก็ตาม

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของเบอดั๊บ ให้ข้อมูลว่า เขาตัดสินใจที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

“เรารู้สึกผิดหวังกับคำตัดสินของศาล ตอนนี้จึงกำลังดำเนินการเพื่อขออุทธรณ์” เธอกล่าว และเสริมว่า การส่งตัวจำเลยกลับประเทศต้นทางจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทย หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสิน

“เราหวังว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะออกคำสั่งไม่ให้ส่งตัวเขากลับไป”

2-th-vn-thai-court-ruled-Bdap.jpeg
ทนายความจำเลย ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน บริเวณด้านนอกศาลอาญากรุงเทพฯ วันที่ 30 กันยายน 2567 (เรดิโอฟรีเอเชีย)

การตัดสินคดีนักเคลื่อนไหวชาวมองตานญาดสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มกล่าวว่า หลายประเทศในภูมิภาคมีการปราบปรามชาวต่างชาติผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองที่กำลังลี้ภัยมากขึ้น

“หากมีความกดดันจากนานาชาติมากพอ ศาลเองก็อาจจะไม่อยากรับผิดชอบในการตัดสินให้ส่งตัว อี ควิน เบอดั๊บ กลับประเทศเวียดนาม” แอนเดรีย จีออเกตา จากสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย

“ตอนนี้การตัดสินใจอยู่ในมือของศาลไทย และทางการไทยก็ควรปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยอนุญาตให้ปล่อยตัว อี ควิน เบอดั๊บ และให้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม”

ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการศูนย์รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ประณามคำตัดสินของศาลว่า “น่าละอายและน่าตกใจ”

“ศาลไทย... ไม่เข้าใจในพื้นฐานความเป็นจริงว่า อี ควิน เบอดั๊บจะต้องถูกทารุณกรรม หากถูกบังคับส่งตัวกลับไปประเทศเวียดนาม อีกทั้งศาลไทยยังเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จและบิดเบือนของศาลเวียดนามอีกด้วย” ฟิล โรเบิร์ตสัน เสริม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง