ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศไม่สำเร็จ เคาะขึ้นก่อน 4 จังหวัด 1 อำเภอ
2024.12.24
กรุงเทพฯ
รัฐบาลยังไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ 400 บาท ตามที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนได้ หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งรับทราบการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 7 - 55 บาท โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 โดยจะขึ้นเป็น 400 บาท แค่ 4 จังหวัดกับ 1 อำเภอก่อน
“กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี นำร่องก่อน โดยในจังหวัดอื่นจะทยอยปรับตามแผนของกระทรวงแรงงาน ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชน หลังการประชุม ครม.
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยสรุป คือ 1. ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
2. วันละ 380 บาท ใน อ.เมือง เชียงใหม่ และ อ.หาดใหญ่ สงขลา 3. วันละ 372 บาท ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด และ 4. อีก 67 จังหวัดที่เหลือ เพิ่มขึ้น 2% โดยคาดว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้ จะทำให้มีลูกจ้างได้ประโยชน์ทันที 3,760,697 คน
ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่า รัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ให้สำเร็จภายในปี 2567 ต่อมานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่ารัฐบาลจะสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศภายในเดือน ต.ค. 2567
แต่แผนที่จะขึ้นค่าแรงในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาต้องสะดุด เมื่อคณะกรรมการค่าจ้าง ไม่เห็นชอบให้ขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่วประเทศเป็น 400 บาท ท่ามกลางเสียงต่อต้านอย่างแข็งขันจากภาคธุรกิจ
โดยต้นเดือน ธ.ค. 2567 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และอาจทำให้เกิดการปิดกิจการ
“กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานทุกประเภท หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงาน” นายสนั่น อังอุบลกุล คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผย
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ชี้ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้ง บริษัทผู้ผลิต การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนแรงงานไหว
“กกร. มีความคิดเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะปรับเมื่อมีเหตุจำเป็นและปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้ แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หากรัฐบาลมีนโยบายต้องการที่จะพิจารณาปรับค่าจ้างแบบจำเพาะนั้น ก็ควรมีการศึกษาความพร้อมของแต่ละประเภทกิจการหรืออุตสาหกรรม” นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปี คือ คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ (ไตรภาคี) โดยพิจารณาการขึ้นค่าจ้างจากปัจจัย ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ GDP และอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติในเดือน ธ.ค. 2566 ขึ้นค่าจ้าง 2-16 บาท คือ ขั้นต่ำสุดก็คือ ขึ้นจาก 328 บาท เป็น 330 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ขึ้นสูงที่สุด คือ ภูเก็ต ขึ้นจาก 354 บาท เป็น 370 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567
ต่อมา เม.ย. 2567 ครม. มีมติเห็นชอบให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ใน 10 จังหวัด ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยขึ้นเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และโรงแรม
สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรง ดร. กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างในรูปแบบไตรภาคีอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล้มเหลว
“การใช้ไตรภาคีล้มเหลว เพราะตัวแทนลูกจ้างที่นั่งในไตรภาคี ไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างจริง ๆ ดังนั้น ค่าแรงที่กำหนดโดยไตรภาคีจึงไม่ใช่ตัวเลขที่ลูกจ้างต้องการจริง ๆ รัฐบาลควรหารูปแบบใหม่ และเป็นกลไกที่ปรับอย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องยอมรับว่า เอาเข้าจริงค่าแรง 400 บาทต่อวัน ยังไม่สามารถอยู่ได้จริง” ดร. กฤษฎา ระบุ
เช่นเดียวกัน นักสิทธิแรงงานก็มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และสภาพความเป็นอยู่ในประเทศไทย
“การศึกษาตั้งแต่ 7 ปีก่อน พบว่าค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับไทยคือ 492 บาทต่อวัน ซึ่งค่าแรงนี้จะสอดคล้องกับเงื่อนไขของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจากการสำรวจของเรา MWRN ก็พบว่า ค่าแรงปัจจุบัน ทำให้แรงงานต้องเป็นหนี้” น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) กล่าว
สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2554 รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท เป็น 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ ตามแนวทางการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 2.54-4.90 บาท
ทำให้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 28-54 บาทเท่านั้น กระทั่งในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอนโยบายว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 400 บาท และทยอยขึ้นจนถึง 600 บาท ภายในปี 2570 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามนโยบายที่หาเสียง
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน