ภาคธุรกิจประสานเสียงค้านรัฐบาลปรับค่าแรง 400 บาท

จรณ์ ปรีชาวงศ์
2024.07.04
กรุงเทพฯ
ภาคธุรกิจประสานเสียงค้านรัฐบาลปรับค่าแรง 400 บาท แรงงานในโรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ ในกรุงเทพฯ ขณะตรวจสอบและบรรจุลูกเปตองก่อนจำหน่าย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566
เอเอฟพี

หลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน โดยเริ่มใช้จริงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเจ้าของบริษัทต่างออกมาส่งเสียงแสดงความคิดเห็นคัดค้านแนวทางดังกล่าว ขณะที่การศึกษาคาดการณ์ว่าจะมีกว่า 25,000 บริษัท ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้ 

“หยาดเหงื่อของพี่น้องแรงงาน เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ ผมไม่ลืมคำมั่นสัญญาที่จะยกระดับเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำ ลดรายจ่าย เพิ่มเงินในกระเป๋า เพราะเข้าใจถึงความลำบากของทุกท่านที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตที่ดีขึ้นครับ” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม

ปัจจุบัน ประเทศไทย ใช้ค่าแรงขั้นต่ำล่าสุด ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 คือ 330 - 370 บาท ตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละจังหวัด ขณะที่ธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี ได้กำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว 

“ขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนจะสูงขึ้น เป็นการกระทบสองเด้ง เพราะบริษัทต้องไปเพิ่มราคาสินค้า มันจะกระทบต้นทุนการผลิตมากกว่า 10% เราเลยเชื่อว่า จะมีหลายกิจการไปไม่รอด ยิ่งขนาดเล็กจะต้องเลิกจ้าง เพราะสายป่านสั้น รอความช่วยเหลือไม่ได้” อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ เจ้าของกิจการอนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น จ.สมุทรสาคร และประธานอุตสาหกรรมภาคกลาง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

อภิสิทธิ์ ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะแต่ละจังหวัด เศรษฐกิจโตไม่เท่ากัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่สูงกว่าเมืองเล็ก 

“หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ” พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

TH-feature-minimum-wage_05.JPG
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ เจ้าของกิจการอนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น จ.สมุทรสาคร และประธานอุตสาหกรรมภาคกลาง ขณะให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ หลังเสร็จภารกิจประจำวัน วันที่ 28 มิถุนายน 2567 (จรณ์ ปรีชาวงศ์/เบนาร์นิวส์)

ผลกระทบที่ฝ่ายผู้ประกอบการเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่กับแค่เพียงฝั่งนายจ้างเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบถึงตัวลูกจ้างเองด้วยเช่นกัน

“ผลกระทบจะเกิดโดยต่อธุรกิจและซัพพลายเชน ถ้าบริษัทจ้างงานไม่ไหวจะมีคนตกงานจำนวนมาก มีการลดการขยายตัวทางธุรกิจ และการลงทุน นอกจากนี้ ผู้บริโภคต้องแบกรับการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ เพราะต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น นอกจากนี้จะเกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มแน่นอน” อธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

ในปี 2566 “ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570” เป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย และหลังจากฝ่าฟันเสียงวิจารณ์จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังพยายามผลักดันนโยบายดังกล่าว 

กระทั่ง พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท โดยจะให้มีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 

ทำให้หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาคมการค้ากว่า 50 สมาคม ได้ร่วมกันแสดงจุดยืน คัดค้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศของรัฐบาลแล้ว โดยชี้ว่า “การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) แทนที่จะกำหนดเองโดยรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนหอการค้าทั่วประเทศ สมาคมการค้า 95 สมาคม ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คัดค้านค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ 

การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

เจ้าของกิจการอนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น ระบุว่า ในอนาคต การส่งออกจะลำบากขึ้นไปอีก ถ้าหากสินค้าเราแพงขึ้นเรื่อย ๆ 

“ที่น่ากลัวคือ ทุกวันนี้เรามีทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นคู่แข่ง ถ้าสินค้าเราแพง เราก็จะยิ่งแพ้ ตลาดเราก็จะหด ถ้าผมขายของไม่ได้ ผมก็คงต้องลดกำลังผลิต คือลดคน ลดงาน และลดวัตถุดิบ ถ้ารัฐบาลอยากดูแลประชาชนควรไปลดราคา ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า น้ำมันมากกว่า เพราะนั่นคือต้นทุนชีวิต” อภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม 

เช่นเดียวกัน จุฑารัตน์ วิธูมาศ เจ้าของธุรกิจกาแฟในจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เชื่อว่า ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบเช่นกัน

TH-feature-minimum-wage_06.JPG.jpg
นางสาวอภิชยา วัชรปรีชา เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ให้คำปรึกษาลูกค้าที่กำลังจะสร้างธุรกิจของตนเอง ที่ไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 13 มิถุนายน 2567 (ณัฐชานันท์ กล้าหาญ/เบนาร์นิวส์)

“จริง ๆ เราเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่มันก็จะทำให้ค่าครองชีพสูงตาม แรงงานมีรายได้เพิ่มแต่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเพิ่ม ดังนั้น ผลกระทบมันมีอยู่แล้ว ต้นทุนสูงก็ต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ร้านกาแฟเองอยู่รอด สิ่งที่ตามมาก็อาจเป็นลูกค้าลดลง เพราะกาแฟไม่ใช่ของจำเป็นที่ขาดไม่ได้เหมือนข้าว” จุฑารัตน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน อภิชยา วัชรปรีชา เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ในกรุงเทพฯ ชี้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทยังเป็นค่าแรงที่อยู่ในวิสัยที่บริษัทจ่ายไหว

“สำหรับธุรกิจรับเหมาของเราซึ่งใช้ลูกจ้างประมาณ 30-40 คน ที่ผ่านมาเราจ่ายค่าแรงตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ถึงมันจะกระทบในแง่ต้นทุน แต่ก็คิดว่ามันจะไม่กระทบมากนัก เพราะคิดเป็นแค่ไม่ถึง 30% ของต้นทุน และถ้าคิดว่าลูกจ้างอยู่ได้ ได้ประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าขึ้นถึงวันละ 500 บาท ตัวเลขนี้น่าจะทำให้เราอยู่ไม่ได้แล้ว” อภิชยา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ในปี 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 29,502 บาทต่อเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 24,362 บาทต่อเดือน ซึ่งในนั้น 21,262 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค

ขณะที่ในมุมของลูกจ้าง ภูพิรัฐ สายศาสตร์ พนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ชี้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำเพียง 400 บาทต่อวัน อาจยังน้อยเกินไปสำหรับการยังชีพในเมืองหลวง

“มันไม่แฟร์ที่ผู้ประกอบการคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงแค่ 400 บาท อาจไม่พอด้วยซ้ำในปัจจุบัน เพราะค่าใช้จ่ายมันเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้นหอมตอนนี้ กิโลละ 200 หมู-ไก่ ก็แพงขึ้น สำหรับคนไม่มีหนี้อาจจะอยู่ไหว แต่คนที่มีหนี้ก็แทบจะอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว” ภูพิรัฐ กล่าว

มากกว่าการขึ้นค่าแรง คือสร้างกลไกที่ดี

ในมุมนักวิชาการ รศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้อาจเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ

“การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นการกระชากด้วยนโยบายของการหาเสียง ไม่ใช่หลักธรรมชาติของการปรับไปตามกลไกทางธุรกิจ และซ้ำเติมผู้ประกอบการ เพิ่มต้นทุน และกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย” รศ.ดร. ธนวรรธน์ ระบุ

ขณะที่ งานวิจัย “หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน : กระทบใคร และกระทบอย่างไร” ซึ่งศึกษาโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ระบุว่า กลุ่มธุรกิจภาคการผลิตอาหาร สิ่งทอ ยาง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์อย่างน้อย 2.5 หมื่นบริษัท ซึ่งยังมีลูกจ้างบางส่วน หรือทั้งหมดได้ค่าแรงต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน จะได้รับผลกระทบ เพราะต้องปรับค่าแรงขึ้นให้เท่ากับที่รัฐบาลกำหนด 

ปี 2566 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ประเทศไทยมีบริษัททั้งสิ้น จำนวน 885,521 ราย มูลค่าทุน 21.50 ล้านล้านบาท โดยในนั้นเป็น บริษัท มหาชน จำกัด 1,429 ราย

TH-feature-minimum-wage_02.JPG
แรงงานในโรงงานอนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น ทำงานตามหน้าที่ประจำวัน ใช้เวลาวันละราว 8-9 ชั่วโมง ที่ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร วันที่ 28 มิถุนายน 2567 (จรณ์ ปรีชาวงศ์/เบนาร์นิวส์)

อย่างไรก็ตาม ดร. กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การทำกลไกการขึ้นค่าแรงที่ดีและเหมาะสม คือ ทางออกที่ดีที่สุด

“ทำไมตอนรัฐบาลประกาศขึ้นค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นต้นทุนที่มากกว่าค่าแรงงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภาคธุรกิจไม่ออกมาคัดค้าน คนทำธุรกิจทราบดีว่า ค่าแรงงานเป็นรายจ่ายไม่เกิน 10% ของต้นทุนทั้งหมดอยู่ ดังนั้นเหตุผลที่เขาค้านเรื่องค่าแรง เพราะเขามองว่า แรงงานเป็นคนส่วนล่างของสังคม” ดร. กฤษฎา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ดร. กฤษฎาชี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา รูปแบบขึ้นค่าแรงโดยใช้ไตรภาคีล้มเหลว เพราะตัวแทนลูกจ้างที่นั่งในไตรภาคี ไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างจริง ๆ ดังนั้น ค่าแรงที่กำหนดโดยไตรภาคีจึงไม่ใช่ตัวเลขที่ลูกจ้างต้องการจริง  ๆ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงควรหารูปแบบใหม่ที่ลูกจ้างมีส่วนในการร่วมกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 

“ค่าแรงขั้นต่ำคือ หลักการคุ้มครองให้แรงงานทำงานแล้วใช้ชีวิตอยู่ได้ ในกรอบเวลาที่เหมาะสม  (8 ชั่วโมง) ตัวเลขควรจะเป็นกี่บาท ก็ให้แต่ละฝ่ายมาคุยกัน และควรมีกลไกในการปรับอย่างสม่ำเสมอ” ดร. กฤษฎา ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง