ที่ปรึกษานายกฯ ชี้ ยิ่งลักษณ์กลับไทยไม่ยาก
2024.04.18
กรุงเทพฯ
นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า กระบวนการในการเดินทางกลับประเทศไทยของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ยาก หลังจากที่ช่วงสงกรานต์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นพี่ชายของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า น้องสาวจะกลับมาทำบุญช่วงสงกรานต์ปีหน้าที่ประเทศไทย ขณะที่นักวิชาการเชื่อ ปีนี้เหมาะสมที่สุดที่ยิ่งลักษณ์จะกลับ
“เมื่อถึงเวลาแล้ว ก็อยู่ที่ท่าน (น.ส. ยิ่งลักษณ์) เอาว่าให้ถึงเวลา ผมว่าโมเดลคล้าย ๆ กัน (กรณีของนายทักษิณ) ได้แต่ดูแลเรื่องคดีให้ท่าน กฎหมายเขียนไว้แล้ว ต้องทำอย่างไร ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ที่ผ่านมาก็ไม่มีสองมาตรฐาน มันเป็นเรื่องการบังคับโทษการบริหารโทษ” นายพิชิต กล่าวกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล
การที่นายพิชิต ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และทนายความของนายทักษิณ-น.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวกับสื่อมวลชนเรื่องนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 นายทักษิณได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์จะกลับประเทศมาทำบุญในช่วงสงกรานต์ปี 2568
“นายกฯ ปู (ชื่อเล่นของ น.ส. ยิ่งลักษณ์) ก็อวยพรสงกรานต์ก่อนออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ก็เลยบอกว่า เดี๋ยวปีหน้าเรามาทำบุญด้วยกัน สงกรานต์ปีหน้า นายกฯ ปู ก็คงมีโอกาสได้มาทำบุญ นายกฯ ปู อยากกลับอยู่แล้ว นายกฯ ปู ก็ห่วงบ้านเมือง (คดี) นายกฯ ปู ไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนผม ของผมเขายัด (คดี) ให้เยอะ ของปูมีอันเดียว มีเรื่องเดียว” นายทักษิณ กล่าว
เมื่อสื่อมวลชนถามว่าจะกลับมาในช่วงเดือนตุลาคม 2567 หรือไม่ นายทักษิณตอบว่า หวังว่าจะให้เป็นเช่นนั้น และยืนยันว่าพร้อมรับมือกับเสียงวิจารณ์จากสังคมที่อาจเกิดขึ้น หาก น.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางกลับมา
“คนจะวิจารณ์เขาก็อยากวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป แต่เรามีเหตุผลของเราที่จะตอบสังคมส่วนใหญ่ได้ สังคมส่วนน้อยมันก็มีธรรมดา ไม่มีใครพอใจทั้งหมด แม้กระทั่งบางคนอยู่บ้านเดียวกัน” นายทักษิณ กล่าว
หลังการเปิดเผยของนายทักษิณ สื่อมวลชนยังได้สอบถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่าได้รับการติดต่อขอกลับประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงหรือไม่ ซึ่งนายเศรษฐา ระบุว่า “ยังไม่มีการประสาน หากกลับมาจริงจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับนักโทษคดีการเมืองอื่น ๆ”
น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นน้องสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2554 ถูกกลุ่มประชาชนในนาม กปปส. ประท้วงขับไล่ระหว่างปี 2556-2557 และแม้ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2557 แต่การชุมนุมก็ยังไม่ยุติ กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหาร และเริ่มดำเนินคดีกับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาทุจริต
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นหนึ่งในจำเลย แต่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาตามนัดศาล โดยได้หลบหนีออกนอกประเทศ
ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ศาลฯ ได้ตัดสินลับหลังให้จำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา เพราะเชื่อว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ รับรู้การทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) แต่ไม่ดำเนินการยับยั้ง จึงถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
นับตั้งแต่ปี 2560 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยอีก โดยได้ไปอาศัยอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับนายทักษิณ ก่อนที่เดือนสิงหาคม 2566 นายทักษิณจะเดินทางกลับประเทศ เข้ารับโทษจำคุก 1 ปี ในโรงพยาบาลตำรวจ และได้รับการพักโทษปล่อยตัวเป็นอิสระหลังจาก 6 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
สังคมเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ อาจเดินทางกลับประเทศเพื่อมารับโทษเช่นเดียวกับพี่ชาย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตโรดโชว์เพื่อเอื้อประโยชน์โดยมิชอบต่อ บริษัท มติชน และสยามสปอร์ต มูลค่าประมาณ 240 ล้านบาท พร้อมกันนั้น ศาลยังได้สั่งเพิกถอนหมายจับของ น.ส. ยิ่งลักษณ์
ต่อกระแสดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เชื่อว่าโอกาสกลับประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงมีสูง
“มีโอกาสสูง ภายใต้โครงสร้างประเทศที่เป็นอำนาจนิยมซ่อนรูปแบบนี้ ใครเข้าถึงอำนาจก็จะได้โอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจอมปลอมแบบนี้แหละ อำนาจมันปลุกผีความยุติธรรมแบบไหนก็ได้” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ปีนี้เหมาะสมที่สุดที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะกลับประเทศ
“ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ไม่กลับมาช่วงนี้ก็พลาดมาก ๆ เพราะเป็นช่วงที่พรรคเพื่อไทยมีอำนาจ การกลับช่วงนี้ จะได้โปรโมชั่นเยอะมาก ๆ แต่อาจจะไม่ใช่ภายใน 1-2 เดือนนี้ เพราะกระบวนการทางเอกสารต้องใช้เวลานาน ต้องมีการประสานงานกันก่อน และอาจจะต้องมีการปรับกติกา ระเบียบต่าง ๆ ของกรมราชทัณฑ์ด้วย” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
“ปีนี้เป็นปีมหามงคล เพราะฉะนั้น ทีมกฎหมายของคุณยิ่งลักษณ์ต้องไปออกแบบรายละเอียดให้เร็วที่สุด ช่วงที่ดีที่สุดควรจะเป็นก่อนเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าไม่ทันจะขยับไปปลายปี หรือปีหน้าก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” ผศ.ดร. ธนพร ระบุ
ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ระบุว่า การกลับประเทศของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อาจทำได้ 2 ลักษณะคือ 1. ใช้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และ 2. ทักษิณโมเดล คือ กลับมารับโทษ และขอพระราชทานอภัยโทษ
โดยในปี 2567 นับเป็นโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งรัฐบาลจะมีการจัดพระราชพิธี รวมไปถึงจะมีการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษด้วย
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรม ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า หาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ กลับมารับโทษจริงจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องขังทั่วไป
“การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่ตอนนี้มีเกือบ 300,000 คน จะปฏิบัติแบบนี้ทั้งหมด และทุกคนจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน มีระบบของเรือนจำอยู่แล้ว หากเป็นผู้หญิง ก็จะมีมาตรฐานให้ ผบ.เรือนจำ เป็นผู้หญิง” พ.ต.อ. ทวี กล่าว
ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คาดการณ์ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะไม่ถูกปฏิบัติแบบเดียวกับนายทักษิณ
“ถามว่าคุณยิ่งลักษณ์ จะใช้วิธีการเดียวกับคุณทักษิณหรือ ตอบว่าไม่ เพราะอายุและสุขภาพไม่เหมือนกัน คุณทักษิณใช้วิธีการพักโทษ แต่คุณยิ่งลักษณ์ จะใช้วิธีการคุมขังนอกเรือนจำ” คุมขังนอกเรือนจำสักระยะหนึ่ง ก็จะใช้วิธีการพักโทษ แค่นี้ ก็จบ ออกไปเล่นสงกรานต์และกินข้าวมันไก่สบาย” นายนิพิฏฐ์ ระบุ