ตำรวจแถลงจับวัยรุ่น 16 คน จากการชุมนุมย่านดินแดง, ตั้งข้อหามั่วสุม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.09.24
กรุงเทพฯ
ตำรวจแถลงจับวัยรุ่น 16 คน จากการชุมนุมย่านดินแดง, ตั้งข้อหามั่วสุม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน เข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง วันที่ 23 กันยายน 2564
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์

กองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงในวันศุกร์นี้ว่า ได้จับกุมผู้ประท้วงวัยรุ่น 16 ราย ที่ร่วมชุมนุมบริเวณย่านสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี้ โดยจะตั้งข้อหามั่วสุมเกินกว่าสิบคนเพื่อสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และข้อหาหนักอื่น ๆ ขณะที่นักวิชาการแนะรัฐไม่ให้มองเยาวชนเป็นศัตรูและให้เร่งพากลับสู่ระบบการศึกษา

พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวในการแถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้กระทำผิดเมื่อคืนวันพฤหัสบดีได้จำนวนทั้งสิ้น 16 คน พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ 8 คัน ซึ่งจะถูกดำเนินคดีหลายข้อหา

เช่น ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 216 นอกจากนี้ ยังมีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อฯ

อีกส่วนหนึ่งจะถูกตั้งข้อหาพกพาอาวุธมาในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยผิดกฎหมาย บางส่วนจะถูกตั้งข้อหามีวิทยุสื่อสารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ต้องหาบางส่วนมีพฤติกรรมในการขับขี่รถ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน พล.ต.ต. ปิยะ กล่าว

พล.ต.ต. ปิยะ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุม 223 คดี มีผู้ต้องหา 825 ราย โดยสามารถจับกุมตัวได้แล้ว 580 ราย

นอกจากนั้น ยังเปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหารายหนึ่ง อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกอาชีวะฟันเฟือง สมุทรปราการ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุบกระจกป้อมจราจรแยกมเหสักข์ พื้นที่ สน. บางรัก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยมีของกลางเป็นชุดที่ใส่ในวันที่เกิดเหตุตรงกับภาพในกล้องวงจรปิด

และในสุดสัปดาห์นี้ มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองสามกลุ่มที่ประกาศว่าจะจัดการชุมนุม ซึ่ง พล.ต.ต. ปิยะ ระบุว่า อาจเข้าข่ายการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อฯ เนื่องจากปัจจุบัน กรุงเทพฯ ยังเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจะดำเนินคดีกับผู้ที่ชักชวนให้เกิดการชุมนุม โดย กลุ่มทะลุแก๊ซ นัดชุมนุมที่แยกดินแดง, กลุ่มทะลุฟ้า ที่ยังไม่ระบุเวลาและสถานที่นัดหมาย และ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ช่วงเย็นวันอาทิตย์นี้

ต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุม ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลควรใช้การรับฟังความคิดเห็นแทนการใช้การดำเนินคดีหรือความรุนแรง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลพยายามยกระดับการดำเนินการอย่างที่ไม่มองเขาว่าเป็นเยาวชน แต่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองแบบเต็มรูปแบบ

“การใช้ยุทธวิธีซึ่งเข้าใกล้ปี 53 ไม่ใช่ทางออกของปัญหา รัฐบาลควรเปิดเวทีรับฟังเขา เร่งแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตพาเขากลับสู่ระบบการศึกษา เพราะคนกลุ่มนี้คือ กลุ่มที่หลุดออกจากการศึกษาช่วงโควิด นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการใช้กำลัง” ผศ.ดร. กนกรัตน์ กล่าวโดยย้อนถึงการปราบปรามคนเสื้อแดงที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายกว่าร้อยราย

ประชาชนทยอยรับทราบข้อกล่าวหา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดี ประชาชนและนักกิจกรรม 17 ราย ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรมของกลุ่มทะลุฟ้า และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวม 6 คดี จากการชุมนุมเมื่อ 23 กรกฎาคม, 17 สิงหาคม, 18-19 สิงหาคม และ 3 กันยายน 2564

ขณะเดียวกัน น.ส. อัครสร โอปิลันธน์ หรืออั่งอั๊ง บุตรสาวของพี่สาวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม. 112 จากการเขียนข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 โดยศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด (BULLY) ทางสังคมออนไลน์ เป็นผู้เข้าแจ้งความที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง